วันนี้ (15 มี.ค. 61) เวลา 11.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ดร.พรชัย รุจิประภา ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน แถลงข่าวว่า จากความสำคัญของภาคพลังงานต่อเศรษฐกิจและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ พลังงานถือเป็นสาขาการผลิตที่สำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมด้านพลังงาน 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีสัดส่วนโดยเฉลี่ยต่อ GDP สูงถึงร้อยละ 16 มีการลงทุนในแต่ละปีกว่า 500,000 ล้านบาท สัดส่วนของผู้ถือหุ้นพลังงาน ในตลาดหลักทรัพย์ ร้อยละ 23 และที่สำคัญพลังงานถือเป็นต้นทุนการผลิตของทุกสาขาการผลิตรวมทั้งครัวเรือนถึงร้อยละ 12 นอกจากนี้ พลังงาน ยังมีการส่งรายได้ให้ภาครัฐเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศสูงถึงประมาณ 300,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ หากรัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาและปรับเปลี่ยนทิศทางการพัฒนาพลังงานใหม่ “พลังงาน” จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยขยายการลงทุนทั้งโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ และการลงทุนอุตสาหกรรมพลังงานของเอกชนโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New S-curve) อาทิ ปิโตรเคมีระยะที่ 4 ระบบกักเก็บพลังงาน และยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะมีมูลค่าลงทุนเพิ่มอีกอย่างน้อย 300,000 ล้านบาท ภายใน 2-3 ปีช่วยผลักดันให้ไทยมีโอกาสก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีรายได้ต่อหัวเฉลี่ยมากกว่า 15,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 471,300 บาทต่อปี [ค่าเงินดอลล่าร์ = 31.42 บาท (ณ 7 ก.พ. 61)] และสามารถเพิ่มอัตราการขยายตัว GDP เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ต่อปี อีกทั้ง การสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและพลังงานทดแทน ยังส่งผลดีต่อการลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนตามข้อตกลงระหว่างประเทศอีกด้วย
ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังมีความเสี่ยงในการจัดหาพลังงาน ตลาดไม่เอื้อต่อการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีใหม่ที่มีผลต่อการใช้และการจัดหายังไม่มีการประเมินผลกระทบและการกำหนดทิศทางพัฒนาที่ชัดเจน ตลอดจนการบริหารจัดการภาครัฐที่ผ่านมา ขาดการยอมรับของประชาชนก่อให้เกิดความขัดแย้ง นำไปสู่การชะงักของการลงทุนอย่างเห็นได้ชัด คณะปฏิรูปฯ จึงจัดทำโรดแมปการปฏิรูป ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2561- 2565) เพื่อมุ่งปรับการบริหารจัดการพลังงานของภาครัฐใหม่ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและแยกบทบาทหน่วยนโยบาย กำกับ และปฏิบัติ ออกจากกัน เพื่อลดการแทรกแซงเชิงนโยบาย พร้อมดำเนินการได้อย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยปรับรูปแบบการวางแผนจัดหาพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ปรับโครงสร้างกิจการพลังงานให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้น พัฒนาพลังงานทดแทนเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนมีอิสระด้านพลังงานในการผลิตเอง ใช้เอง เหลือขาย ตลอดจนผลักดันการสร้างฐานรายได้ใหม่ของประเทศจากอุตสาหกรรมพลังงาน
ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวย้ำว่า สำหรับการดำเนินการตามโรดแมปการปฏิรูปในปี 2561 ภายหลังที่มีการประกาศบังคับใช้ในช่วงเดือนเมษายน 2561 นี้ คาดว่าหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะต้องเริ่มดำเนินการตาม Action Plan ซึ่งมี 17 ประเด็นปฏิรูป ใน 6 ด้าน โดยประเด็นสำคัญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน อาทิ
ริเริ่มการเสนอพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าจากประชาชนเป็นครั้งแรก โดยการปฏิรูปกำหนดให้การจัดตั้งโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ มีเงื่อนไขว่าต้องมีการพิจารณาพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่ประชาชนมีส่วนร่วม ในการนำเสนอผ่านการรับรองจังหวัดและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง โดยในปี 2561 จะต้องจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อกำหนดสิทธิประโยชน์ เกณฑ์ออกประกาศเชิญชวนให้ประชาชนเสนอพื้นที่ และทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ ก่อนดำเนินการตามกระบวนการให้ได้พื้นที่ภายในปี 2562 และรองรับการลงทุนโรงไฟฟ้าใน PDP ที่ปรับปรุงใหม่
ปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ใหม่ พิจารณาการจัดหาเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสม จัดทำแผนที่คำนึงถึงความสมดุลรายภาค โดยในปี 2561 จะจัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อมาศึกษาสัดส่วนโรงไฟฟ้าฐานค่าความต้องการไฟฟ้า ศักยภาพแหล่งผลิต และต้นทุนรายภาค โดยการจัดทำแผน PDP ใหม่ ซึ่งจะต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็น และได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วนภายในปีที่ 2 เพื่อนำไปสู่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพลังงานตามแผนใหม่ในปีที่ 3
ขยายการลงทุนและสร้างฐานเศรษฐกิจใหม่ด้วยอุตสาหกรรมพลังงาน ในปี 2561 จะกำหนดมาตรการสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานทดแทน อาทิ ไม้โตเร็วสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล โซลาร์รูฟเสรี และจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อเร่งกำหนดมาตรการสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่มีมูลค่าการลงทุนในปัจจุบันรวม 1 ล้านล้านบาท ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ให้สามารถขยายการลงทุนเพิ่มอีก 300,000 ล้านบาท ภายในปี 2565 ตลอดจนสามารถกำหนดทิศทางลงทุน และพัฒนา ยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงานของประเทศที่ได้รับการยอมรับจากผู้ลงทุน โดยการลงทุนที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลาปี 2565 จะส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ สร้างงาน สร้างรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน
อีกทั้ง เร่งออกกฎหมายและส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2561 จะเร่งรัดสนับสนุนหน่วยงานผลักดันให้มีการใช้มาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ การใช้ข้อบัญญัติเกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code: BEC) เพื่อให้อาคารที่จะก่อสร้างหรือดัดแปลงขึ้นในประเทศไทย ต้องมีการใช้พลังงานเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ได้เข้ามาทำหน้าที่ปฏิรูปด้านพลังงาน ด้วยเล็งเห็นถึงโอกาสของการใช้พลังงาน เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ หากแต่การเดินตามขั้นตอนต่างๆ ของโรดแมปจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทั้งหน่วยงานภาครัฐหลายๆ แห่ง ที่ต้องบูรณาการความร่วมมือกันอย่างเข้มข้นขึ้น ภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ ซึ่งต้องร่วมกันเป็นกลไกในการสนับสนุน และที่สำคัญที่สุด คือ ภาคประชาชน เพราะการปฏิรูปฯ ทั้งหมดจะไม่สามารถประสบผลสัมฤทธิ์ได้ ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย คณะกรรมการปฏิรูปฯ จึงต้องเร่งทำความเข้าใจในโรดแมปดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความร่วมมือปฏิรูปด้านพลังงานไปพร้อมๆ กัน”
......................................................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th