รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้กล่าวถึงนโยบายและมาตรการของรัฐบาลในการเตรียมความพร้อมประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงมหาดไทย ได้มุ่งเน้นส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุแบบองค์รวมทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสภาพแวดล้อม ภายใต้วิสัยทัศน์ผู้สูงวัยเป็นหลักชัยของสังคม ตามกรอบการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตในผู้สูงอายุ ซึ่งประกอบด้วย การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในสังคม การส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัย และการส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง โดยได้ส่งเสริมและขยายโอกาสการทำงาน พร้อมดำเนินโครงการบ้านผู้สูงอายุเพื่อสร้างและให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้สูงอายุ ปรับที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม สะดวก และปลอดภัย สร้างศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุและโรงเรียนผู้สูงอายุในทุกภูมิภาค รวมทั้งบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญ ดำเนินการกองทุนผู้สูงอายุ และจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยในปี 2561 รัฐบาลได้จ่ายเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุที่มีสิทธิ์ได้รับจำนวน 8.3 ล้านคน เป็นจำนวนเงิน 66,000 ล้านบาท และยังได้นำดิจิทัลมาใช้พัฒนาการเชื่อมงานผู้สูงอายุในระดับชุมชน โดยให้โรงพยาบาล ชุมชน และบ้านทำงานเชื่อมโยงกัน รวมถึงได้พัฒนาระบบและมาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวอย่างเชื่อมโยง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมรัฐบาลจึงได้ดำเนินโครงการบริจาคเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพื่อเชิญชวนให้ผู้สูงอายุบริจาคเบี้ยยังชีพที่ได้รับเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยจำนวนกว่า 3 ล้านคน ในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
ทั้งนี้ รัฐบาลได้วางทิศทางการเตรียมความพร้อมคนไทยเข้าสู่วัยสูงอายุตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยวางระบบการพัฒนาคนในแต่ละช่วงชีวิตจนเข้าสู่วัยสูงอายุ โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมในสังคมแบบประชารัฐ ซึ่งมีเป้าหมายให้ประชาชนสามารถเตรียมความพร้อมของตัวเองในด้านต่าง ๆ เช่น สุขภาพทั้งกายและจิตใจและการออมเงินเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ
ตอนท้ายของการแถลงข่าว รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กล่าวว่า ในส่วนการดำเนินงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กแรกเกิด รัฐบาลเน้นการพัฒนาสุขภาพและพัฒนาการของเด็กแรกเกิด โดยส่งเสริมการดูแลเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์และให้เงินอุดหนุนเดือนละ 600 บาท แก่เด็กในครอบครัวที่มีรายได้น้อยตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งถึงอายุ 3 ปี เพื่อให้เด็กแรกเกิดได้รับการเลี้ยงดูที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม ทั้งนี้ มีประชาชนมาลงทะเบียนรับสิทธิ์แล้วจำนวน 441,217 คน
……………………………………………………
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th