นายกรัฐมนตรีร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat)

ข่าวทั่วไป Saturday March 31, 2018 15:11 —สำนักโฆษก

ของการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 6

วันนี้ (วันเสาร์ที่ 31 มีนาคม 2561) เวลา 08.45 น. นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) ของการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 6 ในหัวข้อ “ปัจจัยสำคัญของแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ในอันที่จะเพิ่มพูนประโยชน์จากผลสำเร็จที่ผ่านมา และการประสบความสำเร็จท่ามกลางภูมิทัศน์ของการพัฒนาของโลกที่เปลี่ยนแปลง” (Critical Factors for GMS Cooperation to leverage on the Past Achievement and Succeed in a Changing Global Development Landscape)

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงถึงความสำเร็จของ GMS เพื่อเชื่อมโยงประชาชนกว่า 340 ล้านคน เข้าไว้ด้วยกัน เชื่อมโยงนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นกว่า 60 ล้านคน ทำให้เกิดรายได้เข้าสู่อนุภูมิภาค จำนวนคนจนลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงปัจจัยของความสำเร็จในอนาคตซึ่งขึ้นอยู่กับการทำงานอย่างร่วมมือร่วมใจกันบนพื้นฐานของหลักการ 3M ความไว้เนื้อเชื่อใจ (Mutual Trust) การเคารพซึ่งกันและกัน(Mutual Respect) และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutual Benefit)

โดยนายกรัฐมนตรีเสนอแผนการทำงานในช่วง 5 ปีข้างหน้า และในระยะยาว เพื่อรับมือกับความท้าทายและสภาพแวดล้อมที่ต้องเผชิญในอนาคต ในประเด็น 5 หัวข้อสำคัญ ได้แก่

1 การร่วมมือกันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรับมือกับวิวัฒนาการของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

2 พัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งให้มีคุณภาพ และใช้ประโยชน์ให้เต็มที่จากการเชื่อมโยง โครงข่ายคมนาคมขนส่งตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ

3 ร่วมมือกันดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (CBTA) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่ออย่างเป็นรูปธรรม

4 การบริหารจัดการแม่น้ำโขงอย่างมีประสิทธิภาพ เราใช้แม่น้ำร่วมกัน (Share River) มีความรับผิดชอบในการใช้แม่น้ำร่วมกัน (Share responsibility) ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำเพื่อความรุ่งเรืองร่วมกัน (Share prosperity) จึงควรแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการรักษาระดับน้ำและหาแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเพื่อรักษาระดับน้ำที่เหมาะสม

5 ร่วมเสริมสร้างความแข็งแกร่งความร่วมมือด้านการเกษตร และสิ่งแวดล้อม นายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรร่วมกันยกระดับมูลค่าสินค้าทางเกษตร ด้วยการกำหนดมาตรฐานการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และผลิตอาหารที่มีคุณภาพ และปลอดภัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดราคา และการขยายตลาดสินค้าเกษตรนอกภูมิภาค ไทยยินดีให้ความร่วมมือเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่มีคุณภาพ

โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำประเด็นความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขงสีเขียว อย่างยั่งยืนต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ