นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3 อย่างไม่เป็นทางการ (Retreat)

ข่าวทั่วไป Thursday April 5, 2018 16:27 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3 อย่างไม่เป็นทางการ (Retreat)

วันนี้ (5 เมษายน 2561) เวลา 9.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3 อย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) ณ ห้องบอลรูม 1 สกขารีสอร์ท แอนด์ คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ (Sokha Siem Reap Resort & Convention Center) โดยภายหลังการประชุม พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้

การประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3 อย่างไม่เป็นทางการ มี 2 หัวข้อ ดังนี้ 1.การเสริมสร้างการดำเนินการตามข้อตกลงแม่โขง ปี 2538 (Strengthening the Implementation of the 1995 Mekong Agreement) 2.บทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในโครงสร้างสถาปัตยกรรมความร่วมมือภูมิภาค (The Role of MRC in the Regional Cooperation Architecture)

หัวข้อที่ 1 การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามพันธกรณีของความตกลงฯ พ.ศ. 2538 และกรอบความร่วมมือคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินความร่วมมือในทุกด้านของการพัฒนาที่ยั่งยืน การใช้ การบริหารจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ และทรัพยากรที่เกี่ยวข้องของลุ่มแม่น้ำโขง โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังเสนอผู้นำประเทศสมาชิกให้ร่วมกันเสริมสร้างความเข้มแข็งของการแลกเปลี่ยนข้อมูลน้ำ ซึ่งครอบคลุมการรักษาปริมาณและคุณภาพน้ำ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และยกระดับชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของประชาชนริมฝั่งโขง และควรมุ่งเน้นสนับสนุนประเทศสมาชิกในการบริหารจัดการความเสี่ยงของภัยพิบัติจากภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วมและคุณภาพน้ำอย่างเป็นระบบ ด้วยเทคนิควิชาการจากฐานข้อมูล ข้อสารสนเทศและองค์ความรู้ที่ผสานมุมมองเชิงลุ่มน้ำอย่างครอบคลุม

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยยินดีสนับสนุนการเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำของประเทศสมาชิก เพื่อตอบสนองการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม ตามเงื่อนไขการพัฒนาของแต่ละประเทศ รวมทั้งความเป็นหุ้นส่วนอย่างใกล้ชิดของประเทศสมาชิกบนพื้นฐานของการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ การเคารพซึ่งกันและกัน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อเดินหน้าไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของประเทศสมาชิกจะทำให้ลุ่มแม่น้ำโขงของเกิดสันติภาพ ความมั่นคงและยั่งยืน ก่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ และสามารถใช้กลไกความร่วมมือที่กำหนดไว้มาสู่การปฎิบัติที่เป็นรูปธรรม ซึ่งคือการนำองค์ความรู้ทางวิชาการและเครื่องมือต่างๆ มาสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายของประเทศสมาชิกและตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ในส่วนที่เกี่ยวข้องด้านความมั่นคงทางอาหาร ทำให้ประชาชนในภูมิภาคเข้าถึงทรัพยากรน้ำและพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่เป็นธรรม รวมถึงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หัวข้อที่ 2. การกำหนดบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในโครงสร้างสถาปัตยกรรมความร่วมมือภูมิภาค (The role of MRC in the regional cooperation architecture) นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมความสำเร็จของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งรัฐบาลไทย กัมพูชา ลาวและเวียดนาม ได้จัดตั้งเมื่อปี 2538 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการฯ ได้ดำเนินความร่วมมือด้านการบริหารจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขง เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน นายกรัฐมนตรีหวังว่า คณะกรรมาธิการฯ จะมีการพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของประเทศสมาชิก ในการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเป็นระบบต่อภัยพิบัติด้านน้ำแล้ง น้ำท่วม คุณภาพน้ำ และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการกำหนดแผนงานและเป้าหมายที่มีกรอบระยะเวลาชัดเจนร่วมกัน พร้อมเน้นย้ำว่า ความท้าทายดังกล่าวเป็นประเด็นข้ามพรมแดน คณะกรรมาธิการฯ จึงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์และเสริมสร้างความเข้าใจที่ดีร่วมกัน ก่อให้เกิดความไว้วางใจและลดความเสี่ยงของการเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ

นายกรัฐมนตรีเสนอให้ประเทศสมาชิกร่วมกันเสริมสร้างบทบาทการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการฯ ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยมีระเบียบปฏิบัติด้านการใช้น้ำ และเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายให้แก่รัฐบาลประเทศสมาชิก ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ควรดำรงบทบาทการเป็นองค์กรวิชาการ และมุ่งพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางความรู้ด้านทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง บนฐานนวัตกรรม 4.0 ซึ่งประเทศสมาชิก หน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาและประชาชน สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริง รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรของประเทศสมาชิก ในการกำกับดูแลการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงอย่างมีประสิทธิภาพ

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้คณะกรรมาธิการฯ เติบโต โดดเด่นและยืดหยุ่นเท่าทันต่อสถานการณ์การพัฒนาต่างๆ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก โดยพัฒนาให้เป็นเวทีด้านการทูตเรื่องน้ำของภูมิภาค จึงควรมีการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล การมุ่งเน้นนวัตกรรม การพัฒนาบนฐานทรัพยากร (Nature-Based Solutions) การใช้ทรัพยากรน้ำเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และเชื่อมั่นว่า การพัฒนาบทบาทความเข้มแข็งของคณะกรรมาธิการฯ มีส่วนสำคัญให้ภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ