เนื่องในโอกาสวันที่ 21 เมษายน 2561 นี้ ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี เมื่อ พ.ศ.2325 โดยในปีนี้ นายกรัฐมนตรีขอเชิญชวนคนไทยทุกคนเข้าร่วมงาน “ใต้ร่มพระบารมี 236 ปี กรุงรัตนโกสินทร์” เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์แห่งราชวงศ์จักรี อีกทั้ง ร่วมกันแสดงออกถึงความรักชาติและนิยมความเป็นไทย โดยแต่งกายชุดไทยเข้าร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างวันที่ 21 – 25 เมษายนนี้ ประกอบด้วย ริ้วขบวนแสดงประวัติความเป็นมาของกรุงรัตนโกสินทร์ ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ กรุงเทพฯ และหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เช่น พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โรงละครแห่งชาติ สวนสันติชัยปราการ ลานคนเมือง หอศิลป์ วัง วัด ศาสนสถาน และเทวสถาน เป็นต้น ประชาชนสามารถเข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมทั้งมีรถโดยสารสาธารณะของ ขสมก. ให้บริการฟรีตามเส้นทางและตารางเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สายด่วนวัฒนธรรม โทร 1765 หรือ www.m-culture.go.th สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอด สร้างสุขปวงประชา เฉกเช่น บูรพมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ อีกทั้ง พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ เพื่อสนองพระราชปณิธานและได้เห็นเป็นประจักษ์สู่สายตานานาอารยประเทศ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะพระองค์ทรงเป็นทูตพิเศษประจำ FAO ทรงรณรงค์แก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารและโภชนาการ ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอื่น ๆ โดยพระองค์ทรงดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อช่วยลดความหิวโหยเป็นระยะเวลาหลายสิบปี ประกอบด้วย โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน กองทุนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เป็นต้น ปัจจุบันนี้ พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ ลาว พม่า กัมพูชา ภูฏาน และบังกลาเทศ นอกจากนี้ ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการจัดตั้งภาคีพัฒนาโคนมแห่งเอเชีย สำหรับการส่งเสริมและพัฒนางานด้านโคนมเพื่อให้น้ำนมมีคุณภาพและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรโคนมในระดับภูมิภาคอีกด้วย รวมถึงโครงการอาหารเสริมนมโรงเรียน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสารอาหารในเด็กวัยเรียนและสนับสนุนอุตสาหกรรมโคนม โดยรัฐบาลได้เชื่อมโยงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDG) ให้เข้ากับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทาง ในโครงการดำเนินนโยบายต่าง ๆ
สำหรับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเพื่อพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืน เป็นมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ตามพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ภายใต้ปรัชญาในการเสริมสร้างสำนึกความเป็นชุมชนและท้องถิ่น โดยให้ชุมชนเป็นผู้กำหนดอนาคตและจัดการหมู่บ้าน พร้อมทั้งชุมชนที่มีคุณค่าและภูมิปัญญาด้วยการเกื้อกูลประโยชน์ต่อผู้ด้อยโอกาส และเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งชุมชน หน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน และประชาสังคม ตามแนวทางประชารัฐ ในการขับเคลื่อนการลงทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างงาน สร้างรายได้ รวมถึงเป็นแหล่งพัฒนาองค์ความรู้ คุณภาพชีวิต และสวัสดิการของสมาชิกอีกด้วย
เนื่องจากวันอาทิตย์ที่ 22 เมษายนของทุกปี เป็นวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day คือ การให้ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างการพัฒนากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ตามแนวคิดของ การจัดงานวันคุ้มครองโลกในปีนี้ว่า “คนรุ่นใหม่ ลดขยะพลาสติก กู้วิกฤติโลกร้อน” ทั้งนี้ พลาสติกนั้น ผลิตง่าย ผลิตได้ครั้งละจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตภัณฑ์พลาสติกใช้การย่อยสลายเป็นระยะเวลานาน ประมาณ 450 ปี เนื่องด้วยพลาสติกทำมาจากน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ยิ่งใช้พลาสติกมากขึ้น ส่งผลให้ก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต จะยิ่งถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดสารพิษเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและทำให้โลกร้อนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีการประกาศยกเลิกการใช้ “พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม” หรือที่เรียกว่า Cap Seal ซึ่งภาคเอกชนรายใหญ่ให้ความร่วมมือ พร้อมทั้งตอบรับนโยบายเป็นอย่างดี เนื่องจากประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกกลางทะเลมากที่สุดในโลก จากการผ่าซากสัตว์ทะเลที่เสียชีวิต พบว่าส่วนหนึ่งสาเหตุมาจากสัตว์ทะเลเหล่านี้ กินพลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ซึ่งรวมอยู่กับพลาสติกอื่น ๆ เข้าไป จึงทำให้หลาย ๆ ประเทศ ประกาศยกเลิกการใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ เกาหลี อิตาลี และอังกฤษ เป็นต้น
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง โรงเรียนปลอดขยะ ที่โรงเรียนบ้านน้ำมิน จังหวัดพะเยา ซึ่งเดิมโรงเรียนนี้ใช้วิธีกำจัดขยะโดยการเผา ทำให้เกิดควันพิษ จึงส่งผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จากนั้นเมื่อได้อบรมและดูงานการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ภายใต้หลัก 3 Rs ประกอบด้วย ลดปริมาณขยะ (Reduce) การใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) จึงได้มาใช้กับเคล็ดลับความสำเร็จของโรงเรียนนี้ คือ การปลูกจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่นักเรียน ทำให้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบโดยตรง อีกทั้งโรงเรียนได้นำหลักการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบมาใช้ พร้อมกับเน้นการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในชีวิตประจำวันและยังมีการสอนกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำหมักชีวภาพ การเลี้ยงสัตว์ด้วยเศษอาหาร การทำสิ่งประดิษฐ์ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกและการเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคมและประเทศชาติต่อไป
........................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th