สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 2/2561 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้ ที่ประชุมได้รับทราบ การประกาศใช้แผนการปฏิรูปประเทศและแนวทางการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล) เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ โดยจะเร่งดำเนินโครงการที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนและสามารถทำได้ทันที (Quick Win) ประมาณ 30 เรื่อง การปรับแก้หรือตรากฎหมายใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ประมาณ80 ฉบับ และโครงการสำคัญตามแผนการปฏิรูปประเทศ (Flagship) ประมาณ 110 เรื่อง นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบกรอบแนวทางการสร้างการรับรู้และขยายผลหุ้นส่วนการพัฒนาร่างยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือ 4 รู้ ได้แก่ รู้จัก สร้างการรับรู้ รู้จำ สร้างการจดจำ รู้จริง สามารถถ่ายทอดต่อได้วงกว้าง และ รู้แจ้ง เข้ามาเป็นหุ้นส่วนการขับเคลื่อนต่อไป โดยที่ประชุมเน้นย้ำให้สร้างการรับรู้และขยายผลให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายในทุกประเภท ระดับ พื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ด้วย
พร้อมทั้ง ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการจัดทำร่างแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งร่างแผนฯ มีวัตถุประสงค์รวม ได้แก่ (1) ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (2) ยกระดับคุณภาพของการจัดการศึกษา (3) มุ่งความเป็นเลิศและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และ (4) ปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากร เพิ่มความคล่องตัวในการรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษา และสร้างเสริมธรรมาภิบาล รวมทั้ง มีประเด็นการปฏิรูป 6 ประเด็น ได้แก่ (1) การให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาก่อนวัยเรียน (2) การจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพของครู (3) กลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ ระบบค่าตอบแทนและกลไกระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู (4) การปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด (5) การปรับโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอน และ (6) การปฏิรูประบบการศึกษาและการเรียนรู้โดยรวมของประเทศ ผ่านการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ โดยที่ประชุมมีข้อเสนอแนะให้คณะกรรมการอิสระฯ ให้ความสำคัญกับการเร่งดำเนินการเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ก่อน เช่น การพัฒนาทักษะการสอนของครู และการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์ คุณธรรม จริยธรรม และการค้นหาศักยภาพเฉพาะของผู้เรียน เป็นต้น ทั้งนี้ คณะกรรมการอิสระฯ คาดว่าจะเสนอแผนฯ ได้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2561
รวมทั้งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการการจัดทำ รูปแบบ และเค้าโครงของแผนแม่บทตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยเห็นควรให้แผนแม่บทมีกรอบระยะเวลาดำเนินการ 20 ปี สามารถแบ่งช่วงระยะเวลาการพัฒนาตามแผนแม่บทเป็น 2 ช่วง ๆ ละ 10 ปี และควรปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างสม่ำเสมอ รวมทั้ง ให้ระบุแผนงาน/โครงการ/การดำเนินการที่เป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการตามแผนแม่บท ทั้งนี้ ไม่ต้องระบุงบประมาณของแผนงาน/โครงการ/การดำเนินการต่าง ๆ ที่ปรากฏในแผนแม่บท ยกเว้นในเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องดำเนินการตามแผนแม่บท ให้มีการระบุกรอบงบประมาณเบื้องต้น และได้มอบหมายให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะใช้ในการเตรียมการจัดทำแผนแม่บทของยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้านต่อไป
พร้อมให้ความเห็นชอบในหลักการแนวทางการติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ โดยเน้นย้ำให้กลไกและวิธีการประเมินสามารถประเมินผลได้อย่างเป็นรูปธรรมและไม่เป็นภาระของหน่วยงานมากจนเกินไป และมอบหมายให้ สศช. หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อปรับปรุงร่างระเบียบฯ ให้เป็นไปตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก่อนการนำเสนอ ครม. พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 คณะ และ สศช. โดยยุทธศาสตร์ชาติมีเป้าหมายการพัฒนาประเทศ คือ การที่ประเทศชาติมีความมั่นคง ประชาชนมีความสุข มีการยกระดับศักยภาพในหลากหลายมิติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ มีการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม มีการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวม โดยที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างยุทธศาสตร์ชาติ และเห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงในประเด็น ได้แก่ระดับรายละเอียดของเนื้อหาในยุทธศาสตร์ชาติ ความแตกต่างและความทับซ้อนกันระหว่างยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน ความเหมาะสมของตัวชี้วัดรายยุทธศาสตร์ การใช้คำศัพท์ที่สอดคล้องกันและเข้าใจง่าย โดยที่ประชุมมอบหมายให้ สศช. พิจารณาปรับปรุงร่างยุทธศาสตร์ชาติตามความเห็นของคณะกรรมการฯ และนำเสนอประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบในนามคณะกรรมการฯ ก่อนเสนอ ครม. ต่อไป
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาให้ข้อคิดเห็นต่อผลการดำเนินการของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) โดยมีความเห็นว่าการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) ควรให้ความสำคัญกับความต้องการของประชาชนและประเทศ ใน 6 เรื่องสำคัญตามที่ได้มีการสั่งการในที่ประชุม ครม. ด้วยแล้ว ได้แก่ (1) โครงสร้างองค์กรและการถ่ายโอนภารกิจบางส่วน (2) การปรับปรุงด้านการสอบสวนเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น (3) ระบบแต่งตั้งโยกย้าย และการร้องเรียนที่เป็นธรรม (4) ความพร้อมด้านวัสดุ อุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน (5) มาตรฐานด้านนิติวิทยาศาสตร์ และ (6) ระบบสวัสดิการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการนี้ ได้มอบหมายคณะกรรมการพิเศษพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ... รับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปประกอบการดำเนินการต่อไป
-----------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ข้อมูล:ฝ่ายเลขาฯ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th