วันนี้(25 เมษายน 2561) เวลา 13.30 น. นายปีร์กะ ตาปีโอละ (H.E. Mr. Pirkka Tapiola) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ ณ ห้องสีงาช้าง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างแข็งขัน นับตั้งแต่เดินทางถึงประเทศไทยเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา และมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ฟื้นฟูความสัมพันธ์ไทย-สหภาพยุโรป โดยเฉพาะการปรับข้อมติเกี่ยวกับประเทศไทย ทำให้ความร่วมมือระหว่างสองฝ่ายในด้านต่าง ๆ กลับมามีพัฒนาการอีกครั้ง โดยได้มีบุคคลสำคัญในระดับรัฐมนตรีจากหลายประเทศของสมาชิกสหภาพยุโรปเยือนไทยอย่างเป็นทางการภายหลังการปรับข้อมติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ ของไทยได้เยือนประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปด้วย รวมทั้งในปลายปีนี้ ยังได้ตอบรับเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (ASEM) ที่กรุงบรัสเซลส์อีกด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยูโรปและอาเซียน เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั้งสองภูมิภาคร่วมกัน สำหรับพัฒนาการทางการเมืองของไทยนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวให้สหภาพยุโรปไว้วางใจได้ว่า รัฐบาลยังคงเดินหน้าตาม Roadmap และ เป็นไปตามกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย รวมทั้งจะมีการลือกตั้งทั่วไปเพื่อนำประเทศกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน
โอกาสนี้ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยยินดีที่ทั้งสองฝ่ายมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากขึ้น หลังจากการปรับข้อมติเกี่ยวกับประเทศไทย เชื่อว่า ไทย-สหภาพยุโรป ยังมีศักยภาพที่จะกระชับความร่วมมือในมิติต่าง ๆ ในอนาคตทั้งการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงและการร่วมหารือของคณะทำงาน ในสาขาต่างๆ ซึ่งเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ยังกล่าวถึงบทบาทสำคัญของไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกสำคัญของอาเซียน จะสามารถส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป รวมทั้งการเป็นประธานอาเซียนของไทยในปีหน้า จะยังมีส่วนผลักดันประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ของไทยและสหภาพยุโรปได้อย่างมีประสิทธิภาพได้มากขึ้น
ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ไม่รายงานและไร้การควบคุม (IUU) ของไทย โดยเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทยชื่นชมนายกรัฐมนตรี ที่ได้แสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองอย่างชัดเจน และสั่งการให้มีการดำเนินการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย IUU รวมทั้งปัญหาแรงงาน ซึ่งเข้าใจดีว่า ปัญหาประมงและแรงงานของไทยมีความซับซ้อน เชื่อว่าไทยจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีแสดงความเข้าใจและหวังว่าสหภาพยุโรปจะเห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ทั้งนี้ ไม่ว่าผลการพิจารณาของสหภาพยุโรปในเรื่องการแก้ไขปัญหา IUU จะออกมาในรูปแบบใด รัฐบาลจะยังคงเดินหน้าดำเนินการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมายและปัญหาแรงงานต่อไปอย่างแน่นอน เพื่อให้การประมงของไทยเกิดความยั่งยืน รวมทั้งยังหวังให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำของไทยและของโลกอีกด้วย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th