วันนี้ (1 พ.ค. 2561) เวลา 14.30 น. ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2561 โดยมี พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และแรงงานจากทุกภาคส่วนให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานพร้อมทั้งแนะนำนายพนัส ไทยล้วน ประธานกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติในปีนี้ ซึ่งได้ยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อต่อนายกรัฐมนตรีด้วย สำหรับข้อเรียกร้องประกอบด้วย (1) ขอให้แก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยกำหนดให้ลูกจ้างเกษียณอายุที่ 60 ปี (2) ปรับฐานการรับเงินบำนาญให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาทต่อเดือน (3) ให้ผู้ประกันตนที่พ้นสภาพการเป็น มาตรา 33 และรับบำนาญให้มีสิทธิสมัครมาตรา 39 ได้โดยไม่ตัดสิทธิการรับเงินบำนาญ (4) ให้ประกันสังคมใช้ฐานค่าจ้างตามมาตรา 33 เดิม คำนวนเป็นฐานรับบำนาญให้ลูกจ้างที่พ้นจากผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (5) ให้รัฐบาลกำหนดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นภาคบังคับที่นายจ้างต้องจัดให้มีขึ้น (6) ให้เร่งออกกฎหมายที่สนับสนุนระบบธรรมาภิบาลในรัฐวิสาหกิจ และยุติการแปรสภาพ (7) ให้ออกกฎหมายคุ้มครอง พัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ และมีสิทธิจัดตั้งองค์กรได้ (8) ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 (9) ให้แก้ไขพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 ให้เป็นภาคบังคับและมีโทษอาญา และ (10) ให้รัฐบาลมอบหมายกระทรวงแรงงานปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 74 อย่างเคร่งครัด โดยให้นายจ้างลูกจ้างและรัฐบาลร่วมกันดำเนินการตัดสินใจ โดยเฉพาะระบบแรงงานสัมพันธ์
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวคำปราศรัยในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติความตอนหนึ่งว่า วันแรงงานแห่งชาติ เป็นวันสำคัญของพี่น้องคนทำงาน ซึ่งเป็นผู้ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ประเทศมีความมั่นคงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และด้านอื่น ๆ ซึ่งรัฐบาลมุ่งหวังให้ประเทศไทยมีภาคการผลิตที่เป็นอุตสาหกรรม 4.0 โดยมีการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จึงมุ่งหวังที่จะพัฒนาพี่น้องแรงงาน ให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถให้มีศักยภาพเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะทำให้พี่น้องแรงงานทุกคนได้เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ทั้งด้านการมีงานทำ การพัฒนาทักษะฝีมือ การคุ้มครองแรงงาน มีความปลอดภัยในการทำงาน และมีหลักประกันทางสังคมที่จะส่งผลในด้านการมีรายได้สูงและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
นายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมสำหรับข้อเรียกร้องในปีนี้ของผู้ใช้แรงงานว่า เป็นงานที่รัฐบาลได้ดำเนินการแล้วในบางส่วนและมีอีกบางส่วนอยู่ระหว่างการดำเนินการ ดังนั้น เพื่อให้ข้อเรียกร้องมีการดำเนินการต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม นายกรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับพี่น้องแรงงานและภาคส่วนต่าง ๆ ได้ร่วมกันหารือและพิจารณากำหนดกรอบแนวทางการปฏิบัติให้ครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อให้สามารถสนองตอบต่อความต้องการของพี่น้องแรงงานให้ได้มากที่สุด
นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำอีกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนแรงงานกว่า 30 ล้านคน โดยมีแรงงานที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่ใช้เครื่องจักรเป็นหลัก ซึ่งรัฐบาลได้มีการกำหนดมาตรการและกฎระเบียบต่างๆ รองรับ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี มีความมั่นคงในอาชีพพร้อมรายได้ของแรงงานทุกคนที่มีความมั่นคง ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพและทักษะฝีมือแรงงานทุกระดับให้ก้าวสู่แรงงานที่มีทักษะคุณภาพสูง มีความรู้ทั้งด้านภาษา และทักษะการใช้เทคโนโลยี ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานโลก และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการเรื่องการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เพื่อทำให้แรงงานต่างด้าวที่อยู่ในประเทศไทยทุกคนทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยออกมาตรการและกฎหมายใหม่ เพื่อป้องกันมิให้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบ รวมทั้งอำนวยความสะดวก และสนับสนุนให้ประเทศต้นทางพิสูจน์สัญชาติให้แก่แรงงานต่างด้าว พร้อมขับเคลื่อนป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ด้วยการกำหนดความเข้มข้นในการตรวจแรงงาน เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำผิดกฎหมาย ทั้งการตรวจแรงงานในระบบ รวมทั้งการตรวจแรงงานในกิจการกลุ่มเสี่ยง และการตรวจแรงงานในเรือประมงอีกด้วย
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวอวยพรให้พี่น้องผู้ใช้แรงงานทุกคนพร้อมทั้งครอบครัว ประสบแต่ความสุข ความเจริญ มีกำลังกาย และกำลังใจที่เข้มแข็ง เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศไทยให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง และยั่งยืนตลอดไป
...................................................................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th