นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมบอร์ดบีโอไอ เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ สมาร์ท ซิตี้ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยใช้ระบบอัจฉริยะ

ข่าวทั่วไป Wednesday May 9, 2018 13:29 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมบอร์ดบีโอไอ เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนการพัฒนาเมือง เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนโดยใช้ระบบอัจฉริยะ เห็นชอบ 6 โครงการใหญ่ ผลิตยาชีววัตถุ พร้อมส่งเสริมกิจการผลิตสารให้ความหวานจากหญ้าหวาน

วันนี้ (9 พฤษภาคม 2561) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 2/2561 โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

ภายหลังการประชุม นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบมาตรการสำคัญหลายเรื่องที่จะส่งผลดีต่อประเทศในหลายมิติ ทั้งเรื่องคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ และคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานทั้งไทยและต่างด้าวในประเทศไทย ดังนี้

ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการลงทุนกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในด้านคมนาคมขนส่ง (Smart Mobility) ด้านการศึกษาและความเท่าเทียมกันในสังคม (Smart People) ด้านความปลอดภัย (Smart Living) ด้านความสะดวกในการทำธุรกิจ (Smart Economy) ด้านบริการจากภาครัฐ (Smart Governance) และด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (Smart Energy & Environment) โดยการส่งเสริมการลงทุนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. กิจการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะ ซึ่งจะให้ส่งเสริมแก่ผู้ที่จะเข้ามาพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่เมืองอัจฉริยะซึ่งต้องลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารที่รองรับระบบอัจฉริยะด้านต่างๆ เช่น Fiber Optic, Public Wifi ด้านการบริหารจัดการข้อมูล (Open Data Platform) และต้องจัดให้มีบริการระบบอัจฉริยะพื้นฐานทั้ง 6 ด้าน ได้แก่ Smart Mobility, Smart People, Smart Living, Smart Economy, Smart Governance และ Smart Energy และ 2. ให้ส่งเสริมแก่ผู้ที่จะมาพัฒนาระบบอัจฉริยะในด้านต่างๆ ซึ่งต้องพัฒนา ติดตั้ง และให้บริการระบบเมืองอัจฉริยะที่เหมาะสมอย่างน้อย 1 ด้านจาก 6 ด้านข้างต้น โดยทั้งสองกิจการนี้จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี (มูลค่ายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 100 ของเงินลงทุน โดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)

"รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนใน 6 ด้าน จึงให้ส่งเสริมแก่นักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของการเป็นเมืองอัจฉริยะ และให้ส่งเสริมนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนระบบต่างๆ ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์ในหลายๆ ด้าน อาทิ มีระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพเชื่อมโยงกันทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ มีความเท่าเทียมกันในสังคมทั้งผู้พิการและผู้สูงอายุ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีความคล่องตัวในการทำธุรกิจและการติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ มีการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี” เลขาธิการบีโอไอกล่าว

ที่ประชุมยังเห็นชอบให้บีโอไอปรับปรุงมาตรการเพื่อส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม 2 เรื่อง ได้แก่ 1. ปรับปรุงกิจการที่ให้ส่งเสริมในปัจจุบันจาก กิจการ “นิคมหรือเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์” (Software Park) เป็นกิจการ “นิคมหรือเขตดิจิทัล (Digital Park)” เพื่อให้การส่งเสริมการลงทุนในปัจจุบันสอดรับกับการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมดิจิทัล รวมไปถึงการต่อยอดและยกระดับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภายในประเทศให้ขึ้นสู่ระดับเชิงพาณิชย์ระดับภูมิภาคมากยิ่งขึ้นโดยกำหนดเงื่อนไขของการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมจากกิจการเดิม คือ ต้องเป็นกิจการที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านนวัตกรรม ที่พร้อมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเชิงพาณิชย์ เช่น ห้องปฏิบัติการวิจัยและพัฒนา พื้นที่ทดลองผลิต พื้นที่ทดสอบตลาด (Living Lab) และพื้นที่ให้เช่าสำหรับจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมของภาคเอกชน

2. ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น สำหรับกิจการพัฒนาเทคโนโลยีแบ่งเป็น 1. หากลงทุนในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) หรือ เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 13 ปี 2. หากลงทุนในพื้นที่ นิคมหรือเขตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Park) นอกพื้นที่อีอีซี จะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่เกิน 10 ปี

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบเปิดส่งเสริมการลงทุนแก่ “กิจการพัฒนาที่พักอาศัยสำหรับแรงงาน” ทั้งสำหรับแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว และต้องเป็นที่พักที่ได้มาตรฐานตามแนวทางขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนก่อสร้างอาคารที่พักอาศัยสำหรับแรงงาน แก้ปัญหาความแออัดของชุมชน และสภาพของที่พักอาศัยซึ่งไม่ถูกสุขลักษณะและเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน

ทั้งนี้ กิจการลงทุนก่อสร้างที่พักอาศัยสำหรับแรงงานทั้งไทยและต่างด้าวสามารถดำเนินการได้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ หากตั้งกิจการในพื้นที่ทั่วไปจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี (เฉพาะรายได้จากค่าเช่าที่พักอาศัย และกำหนดวงเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จะได้รับยกเว้นไม่เกินร้อยละ 100 ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนตามหลักเกณฑ์) และหากตั้งใน 10 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 10 จังหวัดจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 6 ปี โดยผู้ขอส่งเสริมจะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2562

ที่ประชุมได้พิจารณาขยายระยะเวลาการขอรับสิทธิประโยชน์ตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 10 จังหวัด (ตาก ตราด มุกดาหาร สระแก้ว สงขลา เชียงราย หนองคาย นครพนม กาญจนบุรีและนราธิวาส) ออกไปจนถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2563 (เดิมสิ้นสุดวันที่ 30 ธันวาคม 2561) เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนมากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนหลายรายกำลังจะเข้าไปพัฒนาพื้นที่ในหลายเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จึงควรขยายเวลาเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน ทั้งกลุ่มที่จะเข้าไปพัฒนาพื้นที่และกลุ่มที่จะเข้าไปลงทุนตั้งกิจการ

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาให้การส่งเสริมโครงการลงทุนจำนวน 6 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม37,726 ล้านบาท ประกอบไปด้วย

โครงการที่ 1 ได้รับส่งเสริมการลงทุนกิจการผลิตยาแผนปัจจุบัน โดยโครงการนี้จะผลิตยาแผนปัจจุบัน โดยจะผลิตยารักษาโรค และยาชีววัตถุ เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,500 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และมีความมั่นคงทางยา รวมทั้งช่วยพัฒนาบุคลากรของประเทศให้สามารถผลิตยาที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูงด้วย

โครงการที่ 2 และโครงการที่ 3 เป็นโครงการต่อเนื่องโดยเริ่มจากกิจการผลิตสารสกัดจากหญ้าหวานที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเงินลงทุนทั้งสิ้น 4,097 ล้านบาท และโครงการที่ 3 กิจการผลิตสารให้ความหวานจากหญ้าหวานที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพจากการนำสารสกัดจากหญ้าหวานมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,589 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง โดยปัจจุบัน สารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่มาจากธรรมชาติ มีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามกระแสลดบริโภคน้ำตาลของผู้เอาใจใส่ด้านสุขภาพ โครงการนี้ จะช่วยส่งเสริมเกษตรกรในการปลูกหญ้าหวาน ส่งเสริมให้หญ้าหวานเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้ของเกษตรกร เพิ่มโอกาสและช่องทางให้ประชาชนบริโภคสารให้ความหวานโดยไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ และจะเป็นโครงการต้นแบบสำหรับการนำเทคโนโลยีชีวภาพมาพัฒนาพืชหรือสมุนไพรอื่นๆ

โครงการที่ 4 เป็นกิจการผลิตเม็ดพลาสติก POLYPROPYLENE (PP) ซึ่งสามารถนำไปใช้ผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ เฟอร์นิเจอร์ บรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ และเส้นใยต่างๆ เงินลงทุนทั้งสิ้น 12,200 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง โดยโครงการนี้จะใช้วัตถุดิบจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลางในประเทศ มูลค่าปีละกว่า 10,600 ล้านบาท

โครงการที่ 5 เป็นกิจการขนส่งทางท่อ เงินลงทุนทั้งสิ้น 9,500 ล้านบาท โดยจะวางท่อสำหรับขนส่งน้ำมันทางใต้ดินจากจังหวัดสระบุรี ถึงจังหวัดขอนแก่น ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ยังช่วยลดปัญหาการจราจรและมลพิษจากการขนส่งน้ำมันโดยรถบรรทุกอีกด้วย

โครงการที่ 6 เป็นกิจการศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศด้วยระบบที่ทันสมัย เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,840 ล้านบาท ตั้งโครงการที่จังหวัดระยอง โดยจะให้บริการจัดเก็บและกระจายสินค้าประเภทเม็ดพลาสติก เหล็กแผ่นม้วน และอื่นๆ อย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับนโยบายพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของรัฐบาล

………………………………………………………………………………..

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

(ข้อมูลจาก ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน)

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ