วันนี้ (10 พ.ค.61) เวลา 13.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงการดำเนินงานด้านกองทุนยุติธรรม ในกิจกรรมสื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า ครั้งที่ 3 ว่า จากข้อเท็จจริงที่คนจนคนด้อยโอกาสมีปัญหาไม่สามารถเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรมด้วยตนเองได้ รัฐบาลปัจจุบันได้พยายามแก้ปัญหาในส่วนนี้ โดยหาแนวทางทำให้คนจนที่อยู่ในชุมชนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ด้วยการตั้งกองทุนยุติธรรมขึ้น เพื่อช่วยเหลือคนยากจน คนด้อยโอกาส ที่ไม่สามารถเข้าถึงความเป็นธรรมได้ด้วยตัวเอง และทำให้กองทุนยุติธรรมเป็นนิติบุคคล สามารถนำนิติกรรมและสัญญา ช่วยเหลือเกี่ยวกับเรื่องเงินที่สามารถปล่อยตัวชั่วคราว ให้ออกมารวบรวมพยานหลักฐาน พบที่ปรึกษากฎหมายหรือทนายความได้ โดยกองทุนยุติธรรมจะออกเงินค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ เช่น ค่าปล่อยตัวชั่วคราว ค่าจ้างทนายความ เงินวางศาลหรือค่าฤชาธรรมเนียมทั้งหมด และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการดำเนินคดีทั้งหมดที่เกี่ยวข้องให้
รองปลัดกระทรวงยุติธรรมกล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงยุติธรรมไม่มีตัวเลขของประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ทำให้ต้องใช้เวลาในการสืบว่าคน ๆ นั้นยากจนจริงหรือไม่ แต่จากที่รัฐบาลได้เปิดการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ทำให้สามารถทราบตัวเลขประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่มี 11.4 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวน 1 ใน 6 ของประชากรไทย กระทรวงยุติธรรมจึงได้นำเลขบัตรประชาชน 13 หลักเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของกระทรวงการคลัง และอินเทอร์เน็ตของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ทราบข้อมูลของประชาชนในเวลาเพียงไม่กี่นาที ทำให้สามารถอนุมัติให้ความช่วยเหลือได้ภายใน 1-2 วัน จากเดิมที่ต้องใช้เวลาถึง 10 วัน ทั้งนี้ กองทุนยุติธรรมดำเนินงานมาแล้วก่อนหน้านี้ถึงปัจจุบันรวม 12 ปี แต่มีฐานะเป็นนิติบุคคลในรัฐบาลปัจจุบันประมาณเกือบ 2 ปี
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้เนื่องจากไม่มีตัวแทนของกองทุนฯ อยู่ในหมู่บ้าน ตำบล กระทรวงยุติธรรมจึงได้ร่วมมือกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จัดการอบรมหลักสูตรให้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้มีความรู้เรื่องของกองทุนยุติธรรม เพื่อให้สามารถช่วยนำความรู้ไปให้กับลูกบ้านได้ รวมทั้งจัดตั้งศูนย์ยุติธรรมชุมชนในทุกหมู่บ้าน ตำบล เพื่อรับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชน ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรมได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาที่จังหวัด เพราะที่ผ่านมานั้นหลายคนมาถึงที่กระทรวงยุติธรรมแล้วไม่สามารถเดินทางกลับได้ บางคนกลับไปถึงอำเภอแล้วก็ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ รวมทั้งมีเรื่องการยืมเงินค่าใช้จ่ายเพื่อมาดำเนินการด้วย ฉะนั้น กองทุนยุติธรรมจะช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวกับการดำเนินการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งกระทรวงยุติธรรมเชื่อว่า การดำเนินงานดังกล่าว จะสามารถทำให้คนยากจนสามารถเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรมได้มากขึ้น ขณะที่เรื่องการใช้หนังสือค้ำประกันสัญญาจากกองทุนยุติธรรม ก็กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานศาลยุติธรรมถึงข้อกฎหมาย และระเบียบที่จะมารองรับ เชื่อว่าหากสามารถดำเนินการได้สำเร็จ จะทำให้คนจนคนด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้ด้วยตัวเอง
------------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th