ปลัดกระทรวงพลังงานยืนยัน แผน PDP2018 จะทำให้การจัดหาพลังงานไฟฟ้า เพียงพอต่อความต้องการของประเทศ

ข่าวทั่วไป Friday May 11, 2018 15:35 —สำนักโฆษก

ปลัด พน.ยืนยัน แผน PDP2018 จะทำให้การจัดหาพลังงานไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการของประเทศ เผยนำงบจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดหาพลังงาน เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชนชายขอบทั่วประเทศเข้าถึงแหล่งพลังงาน

วันนี้ (10 พ.ค.61) เวลา 13.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และนายธรรมยศ ศรีช่วย ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ในกิจกรรมสื่ออยากรู้ รัฐบาลอยากเล่า ครั้งที่ 3 ดังนี้

ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวถึงการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ Power Development Plan หรือ PDP ซึ่งแผนเดิมคือ PDP2015 โดยในแผนใหม่ที่กำลังปรับปรุงคือแผน PDP2018 ได้มุ่งเน้นจัดหาพลังงานไฟฟ้าให้เพียงพอในทุกภูมิภาค โดยจะไม่ทำให้ต้นทุนของไฟฟ้าเป็นภาระต่อการดำรงชีวิตและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจะต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยแผน PDP ฉบับใหม่จะพิจารณาถึงความเหมาะสมของการใช้ไฟฟ้าเป็นรายภาค มุ่งเน้นศักยภาพของเชื้อเพลิงที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าในแต่ละภูมิภาค โดยเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กระทรวงพลังงานจะสนับสนุนให้เกษตรกร ผู้ใช้ไฟฟ้า ผู้ประกอบการ สามารถนำเชื้อเพลิงที่จัดหาได้เพื่อสนับสนุนการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสังคมมองว่าในปัจจุบันยังมีปัญหาเรื่องการส่งเสริมการจัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน ดังนั้นจะแก้ปัญหาโดยการนำเชื้อเพลิงในท้องถิ่นมาแก้ปัญหาในเบื้องต้น นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาสายส่งให้เพียงพอในการส่งผ่านกระแสไฟฟ้าซึ่งกระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ อีกทั้งจะมีการผลักดันการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะ โดยกระทรวงพลังงานจะประสานข้อมูลต่าง ๆ กับกระทรวงมหาดไทย เพื่อสนับสนุนผลักดันการผลิตไฟฟ้า มาแก้ปัญหาขยะที่มีอยู่ล้นเมืองในปัจจุบัน ฉะนั้น จึงมั่นใจได้ว่าแผน PDP2018 ที่กำลังดำเนินการอยู่นี้จะทำให้การจัดหาพลังงานไฟฟ้าเพียงพอต่อความต้องการ

ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวต่อว่า แผน PDP เป็นการวางแผนการจัดหาพลังงานไฟฟ้า จากปัจจุบันไปถึงอนาคต 20 ปีข้างหน้า โดยวันนี้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 42,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 30,000 เมกะวัตต์ ซึ่งดูเหมือนว่ามีกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกินอยู่มาก แต่ในความเป็นจริงแล้วภายใต้กำลังการผลิต 42,000 เมกะวัตต์ มีโรงไฟฟ้าซึ่งเป็น Non—Firm อยู่ค่อนข้างมาก และส่วนมากจะมาจากพลังงานทดแทน ในห้วงปีนี้ถึงอีก 3-4 ปี อาจจะยังไม่มีเรื่องการขาดแคลนไฟฟ้าเกิดขึ้น แต่ในระยะ 10 – 20 ปีข้างหน้า ความต้องการการใช้ไฟฟ้าจะเติบโตตามการเติบโตของ GDP จึงมีการวางแผนผลิตไฟฟ้าที่ 42,000 เมกะวัตต์ ให้กระจายอยู่ในทุกภูมิภาค ซึ่งบางภูมิภาคมีโรงไฟฟ้าหลายแห่ง มีการนำไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ที่มีปริมาณไฟฟ้าเกินกว่าความต้องการของภูมิภาคนั้น ๆ จึงต้องส่งผ่านไปภูมิภาคอื่น แต่ในขณะที่พื้นที่ภาคใต้มีโรงไฟฟ้าหลัก 2 โรง คือโรงไฟฟ้าจะนะ กับโรงไฟฟ้าขนอม มีกำลังผลิตไฟฟ้าที่ 2,400 เมกะวัตต์ แต่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุดใกล้เคียงกับการผลิตไฟฟ้า เพราะฉะนั้น แผน PDP2018 ฉบับใหม่ จะมีการมุ่งเน้นเจาะเป็นรายภายใน 3-4 ภูมิภาคเพื่อให้เกิดความชัดเจน ให้มีการกระจายกำลังการผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการในแต่ละภูมิภาค ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่แตกต่างไปจากแผน PDP2015 ในปัจจุบัน และจะพยายามหาศักยภาพของเชื้อเพลิงในแต่ละภูมิภาคเพื่อทำให้แต่ละภูมิภาคสามารถพึ่งพาการผลิตและการใช้ในภูมิภาคของตนให้เพียงพอ

“ขณะนี้เรื่องของพลังงานมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว และเทคโนโลยีที่มาเสริมในเรื่องพลังงานทดแทนค่อนข้างจะมีเสถียรภาพมากขึ้นและจับต้องได้ง่ายขึ้น PDP ฉบับใหม่จะมาดูความต้องการของประชาชนในแต่ละภาคส่วน และจะทำให้เกิดความมั่นคง โดยแผน PDP2018 จะออกมาปลายเดือนกันยายนนี้” รองนายกรัฐมนตรีกล่าวเสริม

สำหรับเรื่องข้อกังวลของภาคเอกชนที่ว่าภาครัฐจะชะลอการรับซื้อพลังงานทดแทน นั้น ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวว่า พลังงานทดแทนที่นำมาผลิตไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งของพลังงานทดแทนตามแผน ทั้งนี้ พลังงานทดแทนไม่ใช่แค่เรื่องของพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น ห้วงที่ผ่านมามีข่าวว่ากระทรวงพลังงานจะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ แผน PDP ฉบับเดิมได้กำหนดเป้าหมายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจากปี 2015 – 2036 รวม 20 ปีเป็นปริมาณกำลังผลิตติดตั้งทั้งสิ้นประมาณ 16,000 เมกะวัตต์ โดยจากที่เดินตามแผนมา 3 ปีปรากฏว่าได้รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไปแล้วเกือบ 10,000 เมกะวัตต์ และวันนี้ก็ไม่ได้หยุดการรับซื้อ จากเดิมที่มีการกำหนดอัตราการรับซื้อในรูปแบบ Adder ก็ดี หรือ Feed-in Tariff ก็ดี ถึงปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาไป และมีต้นทุนที่ต่ำลง จึงได้มีการปรับปรุงวิธีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานทดแทนในอีกรูปแบบหนึ่ง คือไม่ต้องการให้การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็นภาระต้นทุนสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้า ฉะนั้น การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจึงยังมีอยู่ภายใต้แผน PDP2018 ที่กำลังพัฒนา แต่อาจจะลดอัตราการรับซื้อซึ่งเป็นภาระ เนื่องจากมองว่าต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนแต่ละเทคโนโลยี ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มีต้นทุนที่ถูกลง ดังนั้น จะรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในราคาที่เหมาะสม และจะต้องไม่เป็นภาระค่าไฟต่อผู้ใช้ไฟ หรือเป็นภาระต่อการขับเคลื่อนการลงทุน หรือระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งตัวเลขในกลุ่มโซล่าร์ กลุ่มลม กลุ่มชีวมวลหรือชีวภาพ ก็ยังมีช่องว่างอยู่

ขณะที่ข้อเสนอของภาคเอกชนที่ให้ตั้งราคากลางในการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทน นั้น ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาภายใต้แผน PDP2018 ซึ่งจากแผน PDP2015 การรับซื้อไฟฟ้ามีตารางการรับซื้อ ที่เทคโนโลยีแต่ละประเภทจะมี Feed-in Tariff แต่ภายใต้การแข่งขันโดยการบิดเข้ามา จะสังเกตได้ว่าสิ่งที่ได้ดำเนินการมาแล้วมีการบิด ปรากฏว่าค่าไฟฟ้าถูกลงเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้นอัตราการรับซื้อไฟฟ้าในแผน PDP ฉบับใหม่ในส่วนของพลังงานทดแทนก็จะต้องมีการทบทวนให้เหมาะสม

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวถึงเรื่องการบริหารสัมปทานการสำรวจผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่อ่าวไทย ซึ่งกำลังจะหมดสัญญาสัมปทานในปี 2565 ว่า ปัจจุบันมีการประกาศเชิญชวนผู้ที่จะมาร่วมลงทุนในการสำรวจและผลิต ซึ่งคาดว่าจะได้ผู้รับสัญญาและเข้ามาร่วมผลิตในปลายปี 2561 และจะมีการเซ็นสัญญาเข้าร่วมผลิต เพื่อให้มีการผลิตที่มีปริมาณเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตตะวันออกด้วย และนอกจากการผลักดันในเรื่องของความมั่นคงด้านพลังงานหลัก ๆ แล้ว กระทรวงพลังงานยังได้สนับสนุนภารกิจไทยนิยม ยั่งยืน ของรัฐบาล ในเรื่องการเพิ่มโอกาสให้พี่น้องเกษตรกรซึ่งมีภาระต้นทุนเรื่องพลังงาน โดยนำพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์มาช่วยสนับสนุนเกษตรกร ในการสูบน้ำเพื่อใช้ในแปลงเกษตรทั่วประเทศ และจะมีการส่งเสริมการจัดหาพลังงานให้ประชาชนที่อยู่ตามชายขอบ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สถานีอนามัย ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ที่พลังงานงานไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง โดยใช้งบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในการจัดหาพลังงาน เพื่อให้โอกาสกับประชาชนที่อยู่ชายขอบทั่วประเทศ ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งพลังงาน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตได้มีการดำรงชีวิตตามปกติเช่นเดียวกับประชาชนในเขตเมือง

------------------------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ