เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 เวลา 09.00 น. พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้เป็นประธาน และกล่าวในพิธีเปิดงานกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) ในหัวข้อ “From ‘Projects’ (Inspire, Bangkok Rules) to ‘Products’: Lessons learned from Thailand’s Corrections-based Rehabilitation Programmes” ซึ่งจัดโดยสำนักกิจการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กระทรวงยุติธรรม ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 27 (The 27th Commission on Crime Prevention and Criminal Justice : CCPCJ) ณ ห้อง Conference Room Press Room ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย ในโอกาสนี้ ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่โครงการกำลังใจในพระดำริฯ ได้ให้การต้อนรับและให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการกำลังใจในพระดำริฯ ที่ได้รับพระกรุณาธิคุณจากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเป็นองค์ประธานก่อตั้งโครงการกำลังใจฯ เมื่อปี พ.ศ. 2549 ซึ่งในปัจจุบันโครงการกำลังใจฯ ได้แผ่ขยายภารกิจการพัฒนาพฤตินิสัยและแก้ไขผู้ต้องขัง และเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยไปยังเรือนจำและทัณฑสถานต่างๆ รวม 18 แห่ง
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้กล่าวถึง ความสำคัญในการแก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัย ตลอดจนการสร้างผลิตภาพ (Productivity) จากผู้ต้องขังให้ประสบความสำเร็จนั้น เกิดจากปัจจัยที่หลากหลาย อันได้แก่ ระบบการบริหารและจัดการเรือนจำที่มีประสิทธิภาพ เช่น การจำแนกและจัดประเภทผู้ต้องขังอย่างเป็นระบบ การพัฒนาโปรแกรมการแก้ไขและพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังให้มีความเหมาะสม ควบคู่ไปกับการพัฒนาจิตใจ อารมณ์ และปัญญาของผู้ต้องขัง พร้อมทั้งเตรียมองค์ความรู้และทักษะต่างๆที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อันนำไปสู่การคืนคนดีกลับสู่สังคม และใช้ชีวิตภายหลังการพ้นโทษอย่างมีคุณภาพ
และด้วยพระกรุณาธิคุณของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่ทรงเป็นแรงบันดาลใจและให้การสนับสนุนกิจการของโครงการกำลังใจในพระดำริฯ ในการสร้างคุณภาพชีวิต พัฒนาทักษะอาชีพและการสรรสร้างผลิตภัณฑ์ฝีมือผู้ต้องขัง ให้เป็นที่ยอมรับทั้งจากสังคมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
ท้ายที่สุด พลอากาศเอก ประจินฯ ยังได้กล่าวถึงข้อเสนอแนวคิดในการสร้าง Global Brand ที่ใช้เป็นการทั่วไป ภายใต้การดำเนินงานของ UNODC เพื่อสร้างสัญลักษณ์แห่งการยอมรับของคนในสังคมและสนับสนุนให้ผู้พ้นโทษได้ใช้ Brand นี้เป็นส่วนหนึ่งในการประกอบอาชีพ อันจะช่วยสร้างรายได้ และไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีกด้วย
1. ผู้แทนจากสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) นำเสนอความสำคัญของการพัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังและที่มาที่ไปของโครงการ Prison Product Brand
2. ผู้แทนสำนักกิจการในพระดำริฯ นำเสนอบทบาทและตัวอย่างกิจการของโครงการกำลังใจในพระดำริฯ
3. ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม นำเสนอแนวทางการพัฒนาพฤตินิสัยของไทยและความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
หมายเหตุ : วันและเวลาในข่าว เป็นวันและเวลาท้องถิ่นของสาธารณรัฐออสเตรีย ซึ่งช้ากว่าประเทศไทยประมาณ 5 ชั่วโมง
...............................................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ข้อมูลโดย พลอากาศเอก มณฑล สัชฌุกร
โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง)
ที่มา: http://www.thaigov.go.th