วันนี้ (24 พ.ค 61) เวลา 13.30 น. ณ ห้องรับรอง ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายกาเบรียล มาโต และนางคาล่า การ์เซีย รองประธานกรรมาธิการประมงแห่งรัฐสภายุโรป สมาชิกรัฐสภายุโรป เข้าพบ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในโอกาสที่มาเข้าร่วมการประชุมประจำปีของคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างวันที่ 21 - 25 พฤษภาคม 2561 ณ ห้องรับรอง ทำเนียบรัฐบาล
โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวชี้แจงว่าประเทศไทยมีความตั้งใจในการปฏิรูปการประมงเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในทุกมิติ รวมถึงการปรับปรุงการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในภาคประมง โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อผู้กระทำผิด ที่ปัจจุบันในภาพรวมมีจำนวนคดี 4,427 คดี มีผลตัดสินแล้วจำนวน 3,883 คดี คิดเป็น 88% แบ่งเป็น ความผิดที่เกี่ยวกับเรือ ได้แก่ การไม่มีการติดตั้ง VMS ไม่แจ้งจุดจอดเรือ เรือสนับสนุนการประมงไม่ติดตั้ง VMS และไม่นำเรือมาทำอัตลักษณ์ จำนวน 2,982 คดี ความผิดเกี่ยวกับการทำประมง ได้แก่ เรือนอกน่านน้ำ เรือไทยทำประมงในน่านน้ำไทย และเรือต่างชาติทำประมงในน่านน้ำไทย จำนวน 1,280 คดี ความผิดด้านแรงงานในสถานแปรรูปสัตว์น้ำ 77 คดี ความผิดด้านค้ามนุษย์ภาคประมง 88 คดี นอกจากการดำเนินคดีแล้ว ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 - 23 พฤษภาคม 2561 ศูนย์ PIPO ได้ออกคำสั่งให้เจ้าของเรือประมงปฏิบัติให้ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลลูกจ้างมิฉะนั้นจะไม่ให้ออกทำการประมง เช่น สัญญาจ้างที่ไม่สมบูรณ์ การไม่ปรับปรุงทะเบียนลูกจ้าง การค้างจ่ายค่าจ้าง จำนวน 179 ลำ โดยเจ้าของเรือทุกลำได้ปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้กล่าวย้ำถึงความจริงจังของรัฐบาลในการลงโทษผู้กระทำผิด เช่น การลงโทษคดีประมงที่สำคัญ คือ คดีกลุ่มเรือยู่หลง ศาลตัดสินเมื่อ 28 ธันวาคม 2560 ลงโทษปรับ 130 ล้านบาท กลุ่มเรือ เซริบู ศาลตัดสินเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2561 ปรับ 88.16 ล้านบาท และกลุ่มเรือ มุกอันดามัน ศาลตัดสินเมื่อ 11 พฤษภาคม 2561 ลงโทษปรับ 223 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ส.ส. อียู ได้ให้ความสนใจในการให้สัตยาบันอนุสัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขจัดแรงงานบังคับและการปรับปรุงคุณภาพชีวิตแรงงานภาคประมง ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดกรอบเวลาการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง (C-188 ) และยกร่างกฎหมายรองรับการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 188 เพื่อประกาศในราชกิจจานุเษกษาให้แล้วเสร็จภายในกันยายน 2561 ส่วนการให้สัตยาบันพิธีสารส่วนเสริมฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ กระทรวงแรงงานซึ่งจะเข้าร่วมประชุม ILO ณ นครเจนีวา พร้อมด้วยหนังสือสัตยาบันสาร ในวันที่ 4 มิถุนายน 2561 และร่าง พรบ. ป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานบังคับเพื่อให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือน กันยายน 2561 รวมถึงการแต่งตั้งคณะทำงานส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในกิจการประมงทะเล ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของแรงงานข้ามชาติภาคประมง ซึ่งในคณะทำงานนี้มีผู้แทน NGO ต่างๆ มาร่วมด้วย คือ EJF, HRW, LPN, STELLA MARIS รวมถึงองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO ด้วย มีเป้าหมายให้เกิดองค์กรลูกจ้างประมงทะเลในทุกจังหวัดชายทะเล 22 จังหวัด อย่างน้อยจังหวัดละ 1 องค์กร ภายในกันยายน 2561 เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการรวมตัวของลูกจ้างประมงทะเลด้วย
พร้อมกันนี้รองนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันว่า การดำเนินการทั้งหมดไม่เกี่ยวข้องกับการปลดหรือไม่ปลดใบเหลืองให้ไทย เพราะไทยได้มองข้ามประเด็นนี้ไปนานแล้ว แต่มองไปถึงการทำประมงที่ยั่งยืน ซึ่งสหภาพยุโรปจะเป็นพันธมิตรสำคัญในการทำงานร่วมกัน โดยประเทศไทยกำลังผลักดันนโยบายประมงร่วมอาเซียน (ASEAN Common Fisheries Policy) รวมถึงการจัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจต่อต้าน IUU ของอาเซียน (ASEAN IUU Task Force) ให้เกิดขึ้นในปีหน้าที่ประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียน ซึ่งส.ส.อียู ทั้งสองได้กล่าวชื่นชมความก้าวหน้าการทำงานของประเทศไทย และเห็นว่าประเทศไทยมีทิศทางการทำงานที่ถูกต้องในการเข้าสู่เป้าหมายการทำประมงอย่างยั่งยืน (Ocean Governance) ความก้าวหน้าของประเทศไทยจะเป็นตัวอย่างที่สำคัญของประเทศที่มีความจริงจังในการปฏิรูป ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับทวีป ดังนั้นสหภาพยุโรปจึงพร้อมให้การสนับสนุนการทำงานเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง
.........................................................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th