วันนี้ (4 มิ.ย.61) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/2561 โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม
ภายหลังการประชุม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ พลเรือเอก โสภณ วัฒนมงคล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพเรือ และ นายโชคชัย ปัญญายงค์ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ร่วมกันแถลงผลการประชุม กพอ. สรุปสาระสำคัญดังนี้
การประชุม กพอ. วันนี้เป็นการประชุมครั้งแรกภายใต้ พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ที่ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 และมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญดังนี้ 1. มีการเปลี่ยนชื่อจาก “คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ)” เป็น “คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)” 2. มีคณะกรรมการเพิ่มเป็น 28 คน (จากเดิม 18 คน ภายใต้ คำสั่งคสช. 2/2560) ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เป็นรองประธาน รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 14 คน หัวหน้าหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง 3 คน ประธานสถาบันเอกชนทั้ง 3 สถาบัน ผู้ทรงคุณวุฒิ 5 คน และเลขาธิการคณะกรรมการ 3. มีการเปลี่ยนชื่อสำนักงานจาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ)” เป็น“คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)” โดยที่ประชุม กพอ. มีมติรับทราบการดำเนินงานของ สกพอ. ตามคำสั่ง คสช. 2/2560 และเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) และเห็นชอบในหลักการการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และให้ กบอ. พิจารณาแล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายต่อไป
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมพิจารณาการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการที่เกี่ยวข้อง ภายหลังจากที่ประกาศเชิญชวนการร่วมทุนในรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปเมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กพอ. ได้สั่งการให้เร่งรัดการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกที่สนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้เชื่อมโยงกับรถไฟความเร็วสูงตรงเวลา และวางแผนการขยายตัวของเมืองรอบ ๆ ข้างให้เป็นระบบ โดยที่ประชุมมีมติรับทราบแนวทางภาพรวมของการขยายตัวจากเมืองการบินภาคตะวันออก ไปสู่มหานครการบินภาคตะวันออกในระยะ 10 ปี เริ่มต้นจากพื้นที่เมืองการบินภาคตะวันออกบริเวณสนามบินอู่ตะเภาขนาด 6,500 ไร่ ไปสู่เขตชั้นในของมหานครการบินภาคตะวันออก พื้นที่โดยรอบรัศมี 10 กิโลเมตร และไปสู่เขตชั้นนอกรัศมี 30 กิโลเมตร โดยมีงานและโครงการสำคัญที่ดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะงานวางแผนทางวิ่งที่ 2 งานวางแผนแม่บท และการศึกษาความเหมาะสม เพื่อการร่วมทุนกับเอกชน ทั้งนี้ มอบหมายให้กองทัพเรือและ สกพอ. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตามลำดับความสำคัญของกิจกรรม (Critical Path) ตามที่เสนอ ด้วยวิธีการบริหารโครงการแบบเร่งด่วน (Fast Track) และจัดทำแผนปฏิบัติการในรายละเอียดร่วมกันอย่างบูรณาการ รวมทั้งกำกับโครงการให้แล้วเสร็จตามเวลาที่กำหนด โดยเสนอคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) พิจารณาก่อนเสนอที่ประชุม กพอ. อีกครั้งหนึ่ง
ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออก ที่สำคัญคือโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ซึ่งปัจจุบันบริษัท การบินไทย จำกัด มหาชน อยู่ระหว่างดำเนินการปรับแก้รายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาให้เป็นไปตามประกาศ EEC Track โดยการปรับแก้ตามความเห็นเพิ่มเติมจากหน่วยงานภาครัฐและคณะกรรมการคัดเลือก เพื่อสรุปนำเสนอฝ่ายบริหารของบริษัท การบินไทยฯ และคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยคาดว่าจะสามารถได้ TOR เดือนกรกฎาคม และได้เอกชนมาลงทุนเดือนตุลาคม 2561
ที่ประชุมยังรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนที่มีรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง) เป็นประธาน ในเรื่องความก้าวหน้าการพัฒนาเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ รวมทั้งรับทราบมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน โดยเมืองใหม่อัจฉริยะน่าอยู่ ที่จะดำเนินการในพื้นที่ EEC ต้องมีองค์ประกอบ 6 ลักษณะ ได้แก่ (1) ชุมชนอัจฉริยะ (Smart Community) (2) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) (3) การคมนาคมขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) (4) พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) (5) เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) (6) การบริหารจัดการอัจฉริยะ (Smart Governance)
สำหรับความก้าวหน้าโครงการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand : EECd) และโครงการเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation : EECi) ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้า EECd ที่จะจัดตั้ง IoT Institute ในระยะแรก และรับทราบแนวทางให้มีการร่วมทุนกับเอกชนในการพัฒนา EECd พร้อมกับรับทราบความก้าวหน้า EECi และการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อเจรจาและชักชวนนักลงทุน
---------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการ กพอ.)
ที่มา: http://www.thaigov.go.th