วันนี้ (6 มิถุนายน 2561) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรื้อถอนพระเมรุมาศ อาคารประกอบพระเมรุมาศและภูมิทัศน์ ครั้งที่ 1/2561 ซึ่งสรุปผลการประชุมฯ ดังนี้
ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบการดำเนินการรื้อถอนย้ายพระเมรุมาศ อาคารประกอบ และภูมิทัศน์ ตลอดจนการจัดเก็บงานศิลปกรรมประกอบพระเมรุมาศ รวมทั้งการทำลายย่อยสลายและฝังกลบเศษวัสดุ ตามที่กรมศิลปากร ในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ โดยมีรายละเอียดสำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
งานนิทรรศการฯ จากพระที่นั่งทรงธรรม ได้นำมาจัดแสดง ณ พระที่นั่งพิมานจักรี ชั้นที่ 1 และ ชั้นที่ 2 พระราชวังพญาไท กรุงเทพมหานคร พระจิตกาธาน นำไปประดิษฐาน ณ โรงราชรถ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร งานประติมากรรม จิตรกรรม และงานประณีตศิลป์ ได้นำไปจัดเก็บรักษา ณ สำนักช่างสิบหมู่ ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม และที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
สำหรับการรื้อย้ายพระเมรุมาศ อาคารประกอบและภูมิทัศน์ โดยดำเนินการการรื้อถอนเพื่อการก่อสร้าง ประกอบด้วย พระที่นั่งทรงธรรม จำนวน 1 ครั้ง ทิม ทับเกษตร ด้านทิศเหนือ 2 หลัง และพลับพลายกหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม และศาลาลูกขุน 1 จำนวน 4 หลัง โดยนำไปก่อสร้างอาคารนิทรรศการถาวร ณ บริเวณหอจดหมายแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และการรื้อย้ายเพื่อจัดเก็บรักษา ประกอบด้วย พระเมรุมาศ ศาลาลูกขุน 2 จำนวน 2 หลัง ศาลาลูกขุน 3 จำนวน 5 หลัง ทิม ทับเกษตร ด้านทิศใต้ 2 หลัง พลับพลายกสนามหลวง 1 หลัง พลับพลาหน้าพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ 1 หลัง และเกยลา ทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น ให้นำไปจัดเก็บรักษา ณ อุทยานประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ตลอดจนงานรื้อย้ายภูมิทัศน์ ประกอบด้วย พันธุ์ไม้พร้อมกระถางส่งมอบและได้จัดเก็บที่วังสวนกุหลาบ กรุงเทพมหานคร พระราชวังไกลกังวล จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร และหอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ตามลำดับ
รวมทั้ง งานพื้นดาดแข็ง (พื้นซีเมนต์บล็อก) ได้นำไปจัดเก็บรักษา ณ สำนักช่างสิบหมู่ ตำบลศาลายา จังหวัดนครปฐม หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี และอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พร้อมทั้ง การรื้อย้ายเพื่อสลายวัสดุก่อสร้าง ได้ดำเนินการด้วยวิธีการเผาในเตาเผาให้ถูกต้องตามกระบวนการเผา และในกรณีที่วัสดุดังกล่าวไม่สามารถย่อยสลายได้ดำเนินการด้วยวิธีฝังกลบ ณ บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ทั้งนี้ การดำเนินงานดังกล่าว กรมศิลปากรพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวังและเป็นไปด้วยดีอย่างสมพระเกียรติ พร้อมกันนี้ กรมศิลปากรได้ประสานมอบพื้นที่ท้องสนามหลวงคืนกลับให้แก่กรุงเทพมหานคร เพื่อปรับสภาพภูมิทัศน์พร้อมเข้าสู่สภาพที่ใช้งานในโอกาสอื่น ๆ ได้ต่อไป
...............................................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th