วันนี้ ( 6 มิถุนายน 2561) เวลา 13.00 น. พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีและคณะได้ เดินทางไปติดตามมาตรการควบคุมกองเรือประมงในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีเสนาธิการทหารเรือ อธิบดีกรมเจ้าท่า อธิบดีกรมประมง และผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า จากการลงเรือตรวจการณ์ตั้งแต่ท่ารับลม – คลองมหาชัย – แม่น้ำท่าจีน ซึ่งมีเรือประมงและเรือที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงตลอดเส้นทาง พบว่า เป็นเรือที่ถูกควบคุมมิให้ออกจากท่าเทียบเรือ เนื่องจากไม่มีทะเบียนเรือ ไม่มีใบอนุญาตทำการประมง รวมถึงอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยเรือดังกล่าวที่ถูกล็อคไม่ให้ออกจากท่าเป็นเรือประมงมีจำนวน 34 ลำ ซึ่งจอดอยู่ริมแม่น้ำท่าจีนเป็นเรือที่ไม่มีชื่อเรือไม่มีทะเบียนเรือ ใบอนุญาตใช้เรือหมดอายุ รวมถึงอยู่ระหว่างการต่อและบางลำจมน้ำ จึงได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าติดประกาศที่เรือหรือท่าเทียบเรือเพื่อให้เจ้าของเรือมาแสดงตัวภายใน 7 วัน หากไม่มีผู้มาแสดงตัว กรมเจ้าท่าจะดำเนินการนำไปขายทอดตลาดตาม พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย และจะให้ด้าเนินการเช่นเดียวกันทุกจังหวัดชายทะเล 22 จังหวัด ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นการกำจัดเรือที่จม ซากเรือต่าง ๆ ที่ไม่ถูกต้องและผิดกฏหมายให้หมดสิ้นไป
นอกจากนี้ การติดตามมาตรการควบคุมและบริหารจัดการกองเรือประมงได้มีการปรับปรุงระบบการทำงานภายในกรมเจ้าท่าเกี่ยวกับการควบคุมเรือประมงทั้งหมด เจ้าหน้าที่ทุกระดับทั้ง ส่วนกลางและสำนักงานเจ้าท่าจังหวัดต้องมีความเข้าใจในขั้นตอนการปฏิบัติต่าง ๆ เพราะระบบการทำงานแบบใหม่กรมเจ้าท่าจะต้องเชื่อมโยงการทำงานกับหน่วยงานอื่น ๆ อย่างทันต่อสถานการณ์ เช่น ตำรวจท้องที่ กรมประมง ทหารเรือ อัยการ ศาล สามารถบริหารจัดการควบคุมเรือไร้สัญชาติ เรือที่ไม่มีที่มาที่ไป และเรือที่ปฏิบัติผิดกฎหมาย เรือคดีต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ให้ออกไปทำการประมงหรือกลับเข้ามาสู่ระบบประมงของประเทศไทย เรือผีต้องไม่มีในประเทศไทย ส่วนเรือจม เรือพัง ได้มีการจัดชุดปฏิบัติการพิเศษและเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ติดตามตัวเจ้าของ เพื่อให้ยืนยันข้อมูลว่า จมที่ใด พังที่ใด ขายไปที่ใด เพื่อมิให้เรือเหล่านี้ถูกนำมาใช้สวมเรือ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังอย่างเด็ดขาด
พร้อมกันนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้กรมเจ้าท่าจะออกระเบียบเป็นหลักเกณฑ์ของราชการเพิ่มเติมให้เข้มข้นขึ้น เช่น อู่ต่อเรือต้องขึ้นทะเบียน เรือทุกลำก่อนต่อเรือต้องถูกตรวจสอบแปลนเรือ ไม่รับจดทะเบียนเรือประมงที่ไม่มีการจัดทำอัตลักษณ์ หรือไม่มีหมายเลข IMO เรือประมงที่ต่อใบอนุญาตใช้เรือประจำปีต้องเข้ารับการตรวจสภาพเรือทุกลำ โดยการอนุมัติให้รับจดทะเบียนเรือหรือไม่ ให้ทำในรูปแบบคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ตำรวจ ประมง ทหารเรือ ไม่ใช่กรมเจ้าท่าเพียงหน่วยงานเดียวอีกต่อไป ส่วนเรือขนถ่ายสินค้าทั่วไปทุกล้าขนาดตั้งแต่ 60 ตันกรอสขึ้นไปต้องติดระบบติดตามเรือ AIS เพื่อให้สามารถตรวจสอบบรรทุกปลา ได้ตลอดเวลา ด้วยมาตรการนี้จะทำให้มั่นใจว่ากองเรือประมงไทยปราศจากเรือที่ผิดกฎหมายดังกล่าว ได้อย่างเด็ดขาด สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศ IUU Free ภายใน 3 ปี และเป็นผู้นำอาเซียนด้านการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายเพื่อการประมงที่ยั่งยืน ก่อนที่ประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปี พ.ศ. 2562
.....................................................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th