รอง นรม. สมคิดฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ครั้งที่ 1/2561

ข่าวทั่วไป Thursday June 7, 2018 15:35 —สำนักโฆษก

รอง นรม. สมคิดฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยมีมติเห็นชอบในหลักการของกรอบแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างยั่งยืน

วันนี้ (7 มิถุนายน 2561) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ครั้งที่ 1/2561 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบในหลักการของกรอบแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติมขั้นตอนการขอใช้เงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ดังนี้ 1) ส่วนราชการหน่วยงานที่จะขอรับสนับสนุนเงิน ต้องจัดทำโครงการแผนงานเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ อย่างน้อย 90 วัน ก่อนเริ่มต้นปีบัญชี 2) ผู้จัดการกองทุนรวมฯ จัดทำแผนการดำเนินงานประจำปีเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ อนุมัติอย่างน้อย 60 วัน ก่อนเริ่มต้นปีบัญชี และส่งให้กระทรวงการคลังอย่างน้อย 30 วัน ก่อนวันเริ่มต้นปีบัญชีก่อนการใช้เงิน 3) เมื่อคณะกรรมการ คชก. อนุมัติแผนการดำเนินงานประจำปี ให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบโครงการ/แผนงาน จัดทำรายละเอียดเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ (คบท.) เพื่อขอรับจัดสรรเงินดำเนินการตามแผนที่ได้รับอนุมัติ และ 4) ส่วนราชการ หน่วยงาน ผู้รับผิดชอบโครงการ/แผนงานที่ได้รับอนุมัติดำเนินการได้ทันที โดยให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ 1. เปิดบัญชีธนาคาร เพื่อขอเบิกเงิน 2. เตรียมแผนการดำเนินการตามโครงการเพื่อให้สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้โดยเร็ว 3. จัดสรรและโอนเงินให้หน่วยงานระดับพื้นที่ ได้โดยเร็ว และ 4. กำหนดวิธีการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ หลักเกณฑ์ วิธีการ รวมทั้งการจ่ายเงิน ก่อนการดำเนินการคัดเลือกและเบิกจ่ายเงิน ทั้งนี้ ในส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ที่ทำให้การบริหารกองทุนฯ มีความคล่องตัวและถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่ประชุมมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ โดยกรมการค้าภายในประสานกรมบัญชีกลางและกระทรวงการคลังโดยเร็วต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบในหลักการ กรอบการขอใช้เงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 ดังนี้ 1. ค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือเกษตรกรที่มีปัญหาเร่งด่วน และเป็นโครงการที่ไม่ปรากฎในแผนการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ 2561 และ 2. ค่าใช้จ่ายช่วยเหลือเกษตรกรที่ผลิตสินค้าเกษตร ตามกรอบนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร โดยมีกลุ่มสินค้าที่ สนับสนุนเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องผู้ประกอบการ ดังนี้ ผลไม้ เพื่อใช้ในการเชื่อมโยงและกระจายผลไม้ โดยการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเป็นทุนในการรับซื้อผลไม้ และค่าใช้จ่ายในการจัดการ รวมถึงการรวบรวมและคัดคุณภาพผลไม้ สุกร เพื่อใช้ลดต้นทุนการผลิตสุกรให้เกษตรกรผู้เลี้ยงรายกลางและรายย่อย โดยชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ ไข่ไก่ เพื่อลดปริมาณการผลิตไข่ไก่ลงวันละ 1 ล้านฟอง โดยสนับสนุนเงินเพื่อซื้อไข่เชื้อเพื่อลดปริมาณการฟักไข่เชื้อจากฟาร์มพ่อแม่พันธุ์เป็นไก่สาวในช่วงหน้าร้อน ข้าว เพื่อส่งเสริมการเก็บรักษาข้าวเปลือกของเกษตกร โดยชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรในการสร้างยุ้งฉาง ไซโลเก็บข้าวเปลือก และ กุ้ง เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการผลิตและการตลาดกุ้งทะเลเพื่อการบริโภคภายในประเทศ โดยสนับสนุนลูกพันธุ์กุ้งคุณภาพ ชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อจัดหาอาหารและปัจจัยการเลี้ยงกุ้งทะเล และชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการระบายจำหน่ายกุ้งให้แก่ผู้บริโภคภายในประเทศต่อไป

ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ ไปหารือในรายละเอียดอีกครั้งกับกระทรวงการคลัง ก่อนนำไปขับเคลื่อนตามนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาล เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของเกษตรกรโดยรวมให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป

...................................................................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ