วันนี้ (วันศุกร์ ที่ 8 มิถุนายน 2561) เวลา 10.30 น. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายศุภณัฐ สิรันทวิเนติ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ “ศอ.บต.” พร้อมด้วย พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร รองเลขาธิการ ศอ.บต. นำคณะผู้นำที่เป็นผู้แทนของประชาชนสาขาอาชีพต่างๆ ในระดับหมู่บ้าน ชุมชนพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ตัวแทนกลุ่มธุรกิจประมงพื้นบ้านต้นแบบโอรังปันตัย ตัวแทนเยาวชนการท่องเที่ยวชุมชนกุนุงซิลิปัต อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ตัวแทนวิสาหกิจชุมชนผู้แปรรูปยางพาราถ้ำทะลุ และตัวแทนเยาวชนหมู่บ้านเกษตรและปศุสัตว์ต้นแบบ ร่วมเสวนาประเด็นความก้าวหน้าของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การขับเคลื่อนตามแนวทางของรัฐบาล “สานพลังประชารัฐ” และโครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” สร้างจุดยืนใหม่ที่เรียกว่า เศรษฐกิจประชารัฐ “รู้กิน รู้ให้ รู้ใจกัน”
เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่าวันนี้การทำงานของทุกหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการทำงานเชิงรุกทั้งหมด เนื่องด้วย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการเน้นย้ำว่าจะต้องยุติการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ให้ได้ในปีการบริหารงานของรัฐบาล โดยแนวทางสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงของหน่วยงานด้านความมั่นคง ด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นของประชาชน ผลสะท้อนจากการพัฒนาที่ผ่านมา พบว่า “สถิตินักท่องเที่ยว” ห้วงระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ที่พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นจำนวนที่สูงกว่าปีก่อนๆ ผ่านมา
ทั้งนี้ โดยตลอดทั้งปี พบว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวเฉลี่ย 1,534,193 คน และมีการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจมากขึ้น รวมรายได้จำนวนกว่า 6,433.46 ล้านบาท ประกอบกับตัวชี้วัดทางด้านเศรษฐกิจที่มีความก้าวหน้าอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม อาทิ “การลงทุน” และ “การขยายตัวทางเศรษฐกิจ” ซึ่งจากสถิติรายงานว่า จังหวัดยะลา ภาคการบริการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.72 การผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.51 การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.76 มูลค่าการค้าชายแดนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.98 ในขณะที่ จังหวัดนราธิวาส ภาคเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 และจังหวัดปัตตานี ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 และภาคเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0
ทั้งนี้ ยังมีการเชื่อมโยงไปยังความตื่นตัวของประชาชนในพื้นที่ที่เพิ่มมากขึ้น โดยสังเกตจากจำนวนร้านค้า แผงลอย ซึ่งเป็นวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนในพื้นที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น สัดส่วนของประชาชนที่ย้ายกลับถิ่นฐานมากขึ้น การซื้อขายที่ดิน สร้างบ้านพักอาศัย บ้านจัดสรร อัตราการว่างงานลดลง ขณะเดียวกันจำนวนแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ฯลฯ จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าการทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมส่งผลต่อการสร้างความมั่นคงในทุก ๆ ด้านอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ได้มีการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวง กรมและหน่วยงานอื่นของรัฐในมิติงานพัฒนาด้านเศรษฐกิจด้วยรูปแบบการเป็นต้นแบบ จำแนกได้ ดังนี้ 1) การพัฒนาเกษตรฐานราก เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การพัฒนาพื้นที่เกษตรรกร้าง และการส่งเสริมการเกษตรในสวนยาง 2) การขยายผลผลิตเกษตรฐานรากจากครัวเรือน สู่ชุมชน การส่งเสริมการดำเนินงานปศุสัตว์แนวใหม่ และการส่งเสริมธุรกิจประมงชายฝั่ง 3) การพัฒนาพื้นที่ สู่อุตสาหกรรมเกษตรก้าวหน้า การส่งเสริมการปลูกมะพร้าว และการส่งเสริมการเพิ่มคุณภาพการปลูกปาล์มน้ำมัน 4) การเชื่อมโยงภาคการผลิต สู่การตลาด โครงสร้างการพัฒนารองรับสะพานข้ามแม่น้ำไปยังประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าเชื่อมโยงจากนครศรีธรรมราช การพัฒนาพื้นที่ด้านการพาณิชย์ อำเภอสุไหงโกลก การพัฒนานักธุรกิจรุ่นใหม่ และการสร้างความร่วมมือกับสาธารณรัฐประชาชนจีน (ด้านภาษา ด้านวัฒนธรรม และด้านยางพารา) 5) การท่องเที่ยว 6) การพัฒนาปัจจัยการสนับสนุนอื่น ๆ อาทิ โครงข่ายความเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่าเรือปัตตานี สถานีรถไฟท่าอากาศยาน การอำนวยความสะดวกการลงทุนในพื้นที่ การบริหารจัดการ one stop service และการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ
จากนั้น นายกสมาคมชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดปัตตานี กล่าวเพิ่มเติมว่าการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานในวันนี้ ถือเป็นมิติการทำงานใหม่ของการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมิติงานพัฒนาด้านเศรษฐกิจที่เข้ามาสนับสนุนการทำงานของประชาชนอย่างเต็มที่ ทำให้เห็นว่าหน่วยงานรัฐทำงานเพื่อประชาชนเป็นอย่างมาก โดยดำเนินการและเห็นผลเป็นรูปธรรมในการสร้างงาน สร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ของประชาชนที่มีความมั่นคง ยั่งยืน จากนั้นประธานกลุ่มวิสาหกิจชมชนการแปรรูปยางพารา ได้กล่าวถึงการแปรรูปยางพาราเป็นพื้นปูสนามฟุตซอล รวมถึงการปลูกพืชแซมต้นยางพารา เช่น ต้นเหลียง ต้นกาแฟ เป็นต้น จากนั้นตัวแทนจากกลุ่มการค้าชาแดน ได้กล่าวว่าด้านผลไม้ท้องถิ่นแช่แข็งส่งออก อาทิ ทุเรียน ลองกอง และมังคุด มีการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด จากนั้นตัวแทนจากชุมชนท่องเที่ยว ได้กล่าวถึงจุดชมทะเลหมอก อำเภอเบตง และตัวแทนจากทายาทเกษตรกรที่สำเร็จจากการศึกษา ได้นำความรู้ไปพัฒนาท้องถิ่นตนเอง อาทิ ด้านการปลูกพืชและฟาร์มปศุสัตว์ที่รวมตัวกันมีสมาชิกกว่า 40 คน ในรูปแบบสหกรณ์ ที่ขายสินค้าเกษตรแปรรูปก่อให้เกิดรายได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยทั้งหมดร่วมกันกล่าวถึงประสบการณ์ เกร็ดความรู้ รวมถึงความช่วยเหลือจาก ศอ.บต. ที่ให้การสนับสนุนด้านต่าง ๆ เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาลอย่างยั่งยืน
ตอนท้าย เลขาธิการฯ ศอ.บต. กล่าวว่า การดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะนำพาความมั่นคงสู่ประชาชน ทำให้มีรายได้สูงขึ้น ขณะเดียวกันจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้โครงการเมืองต้นแบบโดยการบูรณาการกับหน่วยงานทุกภาคส่วน รวมถึงภาคประชาชนในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืนต่อไป
........................................................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th