นายกรัฐมนตรีตรวจโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ (ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ) หนึ่งในการพัฒนาระบบคมนาคมทางราง เชื่อมต่อการเดินทาง เดินหน้ารถไฟทางคู่สายเหนือ

ข่าวทั่วไป Monday June 11, 2018 15:37 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีตรวจโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ (ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ) หนึ่งในการพัฒนาระบบคมนาคมทางราง เชื่อมต่อการเดินทาง เดินหน้ารถไฟทางคู่สายเหนือ ยกระดับบริการโลจิสติกส์ ส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ และกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค

วันนี้ (11 มิถุนายน 2561) เวลา 14.50 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะ ออกเดินทางโดยรถไฟขบวนพิเศษจากสถานีรถไฟชุมแสง ตำบลชุมแสง อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ไปยังสถานีรถไฟนครสวรรค์ ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อตรวจโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ (ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ) โดยมี นายวรวุฒิ มาลา ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับ พร้อมกล่าวรายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ (ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ) ว่าเป็นโครงการรถไฟทางคู่ในเส้นทางสายเหนือ มีระยะทาง 145 กิโลเมตร จำนวน 20 สถานี วงเงินลงทุน 21,688 ล้านบาท เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบรางภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 ที่รัฐบาลเร่งรัดดำเนินการเพื่อเพิมประสิทธิภาพการเดินทางและขนส่ง ช่วยเสริมสร้างโครงข่ายคมนาคมของไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้การเดินทางสู่ภาคเหนือรวดเร็วขึ้น สามารถขนส่งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมได้อย่างสะดวก กำหนดเวลาได้ จูงใจให้ประชาชนเดินทางมาท่องเที่ยวมากขึ้น การค้าขายคึกคัก และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ช่วง ตามความเหมาะสมของพื้นที่ที่แนวเส้นทางพาดผ่าน ได้แก่ ช่วงที่ 1 บ้านกลับ – โคกกะเทียม ระยะทางรวมประมาณ 29 กิโลเมตร และช่วงที่ 2 ท่าแค – ปากน้ำโพ ระยะทางรวม 116 กิโลเมตร มีการก่อสร้าง ปรับปรุงสะพานและทางลอดปลอดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟ 78 จุด ปรับปรุงสถานีรถไฟเดิม 10 สถานี ก่อสร้างสถานีใหม่ 10 สถานี โดยก่อสร้างเป็นทางรถไฟยกระดับ 23 กิโลเมตร และก่อสร้างระดับดิน 122 กิโลเมตร พาดผ่านพื้นที่จังหวัดลพบุรีและนครสวรรค์

โครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ (ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ) สัญญาที่ 2 ช่วงท่าแค – ปากน้ำโพ กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน โดยเริ่มงานก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 – 31 มกราคม 2564 งบประมาณ 8,649,000,000 บาท (แปดพันหกร้อยสี่สิบเก้าล้านบาทถ้วน) ประกอบด้วย (1) งานก่อสร้างรางวิ่งรถไฟ ประมาณ 116 กิโลเมตร (2) งานก่อสร้างสถานีใหม่ 8 สถานี (3) งานปรับปรุงสถานีเดิม 10 สถานี (4) งานก่อสร้างย่านเก็บกองและขนถ่ายตู้สินค้า 1 แห่ง (CY) (5) งานก่อสร้างโยธาและอื่น ๆ (6) งานก่อสร้างถนนยกระดับข้ามทางรถไฟ , ทางกลับรถยกระดับรูปตัวยู , ถนนลอดใต้สะพานข้ามทางรถไฟ และถนนลอดใต้สะพานทางรถไฟโดยใช้ท่อเหลี่ยม และ (7) งานก่อสร้างอาคารศูนย์ควบคุมการเดินรถ 1 แห่ง (CTC)

ซึ่งมีความมั่นใจว่าโครงการนี้จะสามารถพลิกโฉมการขนส่งทางรถไฟได้อย่างชัดเจน เพราะจะทำให้มีความจุของทางรถไฟเพิ่ม สามารถรองรับขบวนรถเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว การขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางได้ถึง 30% เนื่องจากไม่ต้องเสียเวลาในการรอหลีกขบวนรถ มีความตรงต่อเวลาของขบวนรถ ช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งด้านโลจิสติกส์ เพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งทางรถไฟ ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่งของประเทศ และลดปัญหามลพิษที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เชื่อมโยงโครงข่ายการบริหารจัดการขนส่งมวลชน สินค้า บริการ ทั้งในพื้นที่ชนบท เมือง และระหว่างประเทศเข้าด้วยกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าและทันสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาระบบขนส่งทางราง ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางและขนส่ง มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และทำให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งธุรกิจ การค้า การลงทุน เป็นไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เสริมศักยภาพด้านเศรษฐกิจการค้าและโลจิสติกส์ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนในภูมิภาค ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาได้อย่างเต็มที่

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า การพัฒนารถไฟไทยสู่โครงข่ายหลักของประเทศมีความสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งด้านการเดินทางและขนส่งที่มีความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย ประหยัด กำหนดเวลาได้ และเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร้รอยต่อด้วยการเดินทางที่สะดวกสบายขึ้น สัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางเพิ่มมากขึ้น ต้นทุนโลจิสติกส์ลดลง เป็นส่วนสำคัญของการหนุนนำเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะทำให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข นำประเทศสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

ทั้งนี้ รถไฟทางคู่เส้นทางช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ เป็นโครงการพัฒนารถไฟทางคู่ใหม่ รูปแบบการพัฒนาทางรถไฟใหม่เพิ่ม 1 ทางขนานไปกับทางรถไฟเดิม เพื่อเร่งยกระดับให้บริการโลจิสติกส์สู่พื้นที่ภาคเหนือ ในส่วนของการออกแบบก่อสร้างสถานียังคงเอกลักษณ์ท้องถิ่นเป็นหลัก มีการนำสถาปัตยกรรมท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ เพื่อให้เกิดความสวยงามและกลมกลืนกับสภาพภูมิประเทศ ผสมผสานกับความทันสมัยและความคิดสร้างสรรค์ทั้งสถานีขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เน้นความปลอดภัย ง่ายต่อการขนส่ง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครันเพื่อสนับสนุนการเดินทางของประชาชน และการคมนาคมขนส่งของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจ และมีการอนุรักษ์อาคารสถานีรถไฟเดิมทุกสถานี โดยคาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการในปี 2565

-------------------------

สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ