รอง นรม. ฉัตรชัยฯ ติดตามการใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV) ตรวจทางทะเลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจตรา ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมงในพื้นที่อ่าวไทย

ข่าวทั่วไป Thursday June 14, 2018 14:52 —สำนักโฆษก

การใช้อากาศยานไร้คนขับ UAV เป็นการนำเทคโนโลยีการตรวจการทางอากาศของกองทัพอากาศซึ่งมีอยู่เดิม ที่โดยปกติใช้ในภารกิจด้านความมั่นคงเพื่อการป้องกันประเทศ มาประยุกต์ใช้กับการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจตรา ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมง

วันนี้ ( 14 มิถุนายน 2561) เวลา 13.00 น. พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ซึ่งประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายลักษณ์ วจนานวัช) รองปลัดกระทรวงแรงงาน และอธิบดีกรมประมง ได้เดินทางไปสนามบินอู่ตะเภา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง เพื่อติดตามและเยี่ยมชมการใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV) ตรวจทางทะเลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจตรา ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมงในพื้นที่อ่าวไทย โดยมี พล.ร.อ.พิเชฐ ตานะเศรษฐ เสนาธิการทหารเรือ เป็นผู้นำเสนอภาพรวมการปฏิบัติ

โอกาสนี้ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การใช้อากาศยานไร้คนขับ UAV เป็นการนำเทคโนโลยีการตรวจการทางอากาศของกองทัพอากาศซึ่งมีอยู่เดิม ซึ่งโดยปกติใช้ในภารกิจด้านความมั่นคงเพื่อการป้องกันประเทศ มาประยุกต์ใช้กับการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจตรา ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแอบเข้ามาทำประมงในน่านน้ำไทยโดยเรือประมงต่างชาติ

หรับการทำงานของ UAV จะออกทำการตรวจใน 2 รูปแบบ คือ 1. การป้องปราม โดยการออกตรวจตามแผนงาน หากพบการกระทำความผิดในทะเลจะส่งข้อมูลไปที่ศูนย์ติดตามและเฝ้าระวังการทำประมง (FMC) เพื่อประสานหน่วยตรวจในทะเล และศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก (PIPO) ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย และ 2. การปราบปราม เมื่อศูนย์ FMC ของกรมประมงตรวจพบพฤติกรรมการทำประมงผิดปกติจากระบบ VMS จะส่งข้อมูลมาให้ UAV ขึ้นตรวจทางอากาศ เพื่อสอบการกระทำความผิดและประสานหน่วยตรวจในทะเล และศูนย์ PIPO ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายเช่นเดียวกัน โดยแผนดำเนินการอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV ที่นำมาใช้ในการตรวจทางอากาศนั้น ระยะแรกทางกองทัพอากาศให้การสนับสนุน จำนวน 1 เครื่อง โดยกำหนดแผนการตรวจร่วมกับศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) เน้นพื้นที่อ่าวไทยรูปตัว ก และตอนกลาง ซึ่งเขตน่านน้ำไทยติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน และในระยะที่ 2 จะดำเนินการขยายพื้นที่ไปยังอ่าวไทยตอนล่าง ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราชลงไป และระยะที่ 3 ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลอันดามัน โดยใช้ระยะเวลาไม่เกิน 4 เดือน หลังจากนี้

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การใช้เทคโนโลยี UAV จะทำให้ประสิทธิภาพการตรวจตรา ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมง มีประสิทธิผลสูงขึ้น สามารถจำแนกเรือประมงที่ปฏิบัติผิดกฎหมายออกจากเรือประมงที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายได้ชัดเจนขึ้น เนื่องจากระบบตรวจทางอากาศสามารถแก้ไขปัญหาข้อจำกัดในการทำงานของหน่วยตรวจทางทะเลได้ เพราะเห็นภาพรวมมุมกว้าง ประกอบกับเทคโนโลยีการบันทึกข้อมูลด้วยระบบบันทึกภาพดิจิตอลที่ทันสมัยจะทำให้เห็นพฤติกรรมการทำผิดกฎหมายของเรือประมงที่ผิดกฎหมายได้อย่างชัดแจ้ง สามารถใช้เป็นหลักฐานในการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ทั้งการดำเนินมาตรการปกครองและมาตรการอาญา ทำให้เรือประมงที่ปฏิบัติผิดกฎหมายต้องออกจากระบบการประมงไทยในที่สุด สอดคล้องกับเป้าหมายการทำประมงอย่างยั่งยืนที่ประเทศไทยตั้งใจไว้

อย่างไรก็ตาม รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า ชาวประมงที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย จะได้รับประโยชน์จาก UAV เป็นอย่างมาก เพราะเทคโนโลยีการลาดตระเวนทางอากาศจะสามารถชี้เป้าหมายให้หน่วยตรวจในทะเลสามารถจับกุมเรือประมงต่างชาติที่ลักลอบเข้ามาทำการประมงในเขตน่านน้ำไทยได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ได้รับการร้องเรียนจากชาวประมงมาโดยตลอด ที่สำคัญสามารถสร้างความมั่นใจว่า ภาครัฐให้การคุ้มครองการทำประมงที่ถูกกฎหมายอย่างทั่วถึง

-----------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ