สรุปประเด็นนายกรัฐมนตรีกล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน 2561

ข่าวทั่วไป Friday June 29, 2018 14:02 —สำนักโฆษก

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับประชาชนผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันศุกร์ที่ 29 มิถุนายน 2561 เวลา 20.15 น. ในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

จากปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือเด็กและโค้ชทีมฟุตบอล “หมูป่า อะคาเดมีแม่สาย” ทั้ง 13 คน ที่พลัดหลงในถ้ำหลวง จ.เชียงราย ตามที่มีรายงานข่าวมาอย่างต่อเนื่องนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยได้ทรงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งพระราชทานกำลังใจไปยังครอบครัวผู้ประสบภัย ทุกคน รวมถึงพระราชทานกำลังใจอาหารและเครื่องดื่มแก่จิตอาสาและผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้ประสบความสำเร็จ โดยสวัสดิภาพ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีขอชื่นชมความทุ่มเทในหน้าที่การทำงานด้วยการบูรณาการกันอย่างสามัคคี พร้อมช่วยกันทั้งอาสาสมัคร จิตอาสา และเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้มีการระดมทรัพยากร ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านจากทั่วทุกสารทิศของประเทศ มาบูรณาการกันอย่างมีระบบ ซึ่งปฏิบัติการครั้งนี้ ต่างให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของทุกชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน โดยได้รับความช่วยเหลือจากทีมกู้ภัยและนักประดาน้ำของประเทศลาวเพื่อนบ้านใกล้ชิด พร้อมทั้งผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำในถ้ำระดับโลก จากประเทศอังกฤษ ที่ได้รับการประสานจากรัฐบาลไทย ซึ่งได้เดินทางมาพร้อมกับเครื่องมือค้นหาผู้รอดชีวิต หรืออุปกรณ์ตรวจหาสัญญาณชีพที่ทันสมัย เป็นต้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จากการปฏิบัติภารกิจ ณ สหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 20 - 26 มิถุนายน ที่ผ่านมานั้น ซึ่งได้มีโอกาสพบหารือกับนาย เอมานูว์ แอล มาครง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่ได้ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่นและสมเกียรติ โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนให้ฝรั่งเศสเข้ามาเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนแม่บทของ ACMECS ที่มีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้ง ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางหลักในการดำเนินงาน พร้อมรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงทางการค้าเสรี ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นต่อไป

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดี มาครง ยังได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความตกลงที่จะนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา และสัญญาซื้อขายดาวเทียม THEOS II เพื่อใช้ ในการสำรวจทรัพยากร รวมทั้งการพยากรณ์สภาพลมฟ้าอากาศ ซึ่งเป็นดาวเทียมที่ทันสมัย รวมถึงมีการลงนามใน MOU ระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศส รวมทั้งหมด 11 ฉบับด้วย ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายจะร่วมกันผลักดันความร่วมมือเหล่านี้ โดยเฉพาะโครงการลงทุนในเขต EEC ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ซึ่งประธานาธิบดีประเทศฝรั่งเศส ได้ตอบรับที่จะเดินทางมาเยือนประเทศไทย ในช่วงที่นายกรัฐมนตรีของประเทศไทยจะดำรงตำแหน่งเป็นประธานอาเซียนใน ปี 2562 ด้วยเช่นกัน

สำหรับการเปิดงานสัมมนา Thailand Business Forum นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันดี ระหว่างไทยและฝรั่งเศสที่ต่อเนื่องระยะเวลายาวนาน อีกทั้งยังเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญระหว่างกัน ทั้งในบทบาทของการนำเข้าสินค้า ส่งออกสินค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยเฉพาะ EEC และสร้างฐานการผลิตในประเทศไทย ดังเช่น กลุ่ม Transdev ที่ทำธุรกิจหลักในการบริหารระบบขนส่งมวลชน และกลุ่ม Michelin ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางรายสำคัญของโลก พร้อมทั้งสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยางของประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาดโลก อีกทั้งยังมีกลุ่ม Vinci Concession ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรม โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ “Thailand 4.0” และโครงการ EEC ของรัฐบาล

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ภารกิจ ณ ต่างประเทศทั้งสองดังกล่าวนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเชื่อมโยงความร่วมมือและเป็นอีกหนึ่งนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะทางด้านการค้า การลงทุน และการตลาด ตลอดจนความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้สอดคล้องกับสโลแกนของโครงการ EEC ภายใต้แนวคิด “เชื่อมโลก ให้ไทยแล่น” ซึ่งกำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งคนไทยและต่างประเทศอย่างมาก

นอกจากนั้น ในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตามยุทธศาสตร์ชาติและการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ในอีก 5 ปีข้างหน้า จึงมีความจำเป็น ในการกำหนดแนวทางในการส่งเสริมนวัตกรรมไปสู่การผลิตและพร้อมนำมาใช้ประโยชน์ในการวิจัยและพัฒนาประเทศเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการก้าวไปสู่ “ประเทศส่งออกนวัตกรรม” ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม พร้อมกับป้อนภาคการผลิตของประเทศ โดยเฉพาะ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC เช่น ช่างซ่อมอากาศยาน วิศวกรรมซ่อมแซม และควบคุมการเดินรถไฟฟ้า เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ด้านการกำหนดมาตรฐานแรงงานไทยและการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อให้สามารถขอรับอัตราค่าแรงที่สูงกว่าปกติตามขีดความสามารถที่แท้จริง เพื่อสนับสนุนให้มีการพัฒนาตนเองของแรงงานไทย รวมถึงการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ซึ่งเป็นการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวในการจ้างงาน ณ สถานประกอบการต่าง ๆ ล้วนแต่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจของไทยในระดับฐานราก โดยเฉพาะ SME และ Start-up ที่มีความเชื่อมโยงกับสถานประกอบการ โรงงานขนาดใหญ่ ในลักษณะห่วงโซ่คุณค่าของระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ตลอดจนมีการแก้ปัญหาโภชนาการของเด็ก ใน 4 มิติ ด้วยการจัดการอาหารโรงเรียน โดยโปรแกรมสำเร็จรูปและการจัดครัวกลาง สำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ซึ่งจะเป็นความร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน ประกอบด้วยการจัดหาวัตถุดิบ เพื่อประกอบอาหาร โดยการรับซื้อผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากคนในชุมชน นอกจากเปิดโอกาสให้ชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการดูแลบุตรหลานของตนเอง แล้วยังเป็นตลาดในชุมชนและมีการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ในชุมชนของตนเองให้มีรายได้เสริมอีกด้วย

นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานในพื้นที่นำร่องในจังหวัดสุรินทร์ที่ผ่านมานั้น รัฐบาลโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับจังหวัดสุรินทร์ ในการดำเนินการตามหลักการดังกล่าวเบื้องต้น ในห้วงปี 2558 – 2559 ที่สืบเนื่องมาจากผลการเปลี่ยนแปลงพัฒนาการทางร่างกายที่สมกับวัยตามเกณฑ์ ของประชาชนในชุมชนที่ได้รับสารอาหาร ครบ 5 หมู่ ตามหลักโภชนาการ ทำให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดีขึ้น พร้อมทั้งสนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชนได้นำโมเดล “อาหารกลางวัน” ดังกล่าว เพื่อนำไปขยายผลสู่จังหวัดอื่น ๆ ต่อไปด้วย

ตอนท้ายของรายการฯ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเชิญชวนพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ร่วมกันรณรงค์ “กำจัดลูกน้ำยุงลาย ลดป่วยตายจากโรคไข้เลือดออก” ในช่วงฤดูฝนนี้ เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ โรคไข้เลือดออกที่ได้รับรายงานตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนของปีนี้พบผู้ป่วย 22,500 ราย เสียชีวิตแล้ว 29 ราย และจากการสำรวจลูกน้ำยุงลาย ช่วงต้นเดือนมิถุนายน ปี 2561 ยังพบค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในชุมชนมีอัตราที่สูง โดยเฉพาะการพบลูกน้ำยุงลายในภาชนะตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ ดังนั้น มาตรการที่จะป้องกันโรคร่วมกันเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัด พร้อมทั้งทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยยึดหลัก “3 เก็บ 3 โรค” ประกอบด้วย การเก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายอยู่อาศัย การเก็บขยะให้เกลี้ยงไม่ให้ยุงลายเพาะพันธุ์ รวมถึงการเก็บปิดน้ำให้มิดชิด ไม่ให้ยุงลายวางไข่ เพื่อจะช่วยป้องกัน 3 โรค ได้แก่โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกานั้นจะมีส่วนสำคัญให้พี่น้องประชาชนปลอดภัย จากโรคต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป

…………………………………………………

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ