วันนี้ (11 ก.ค.61) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 3/2561 โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม ซึ่งภายหลังการประชุม นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เลขานุการ นบข. ได้แถลงผลการประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ข้าว การส่งออกข้าวของไทยจะยังคงมีทิศทางที่ดี เนื่องจากมีการทยอยส่งมอบข้าวตามสัญญาซื้อขายข้าวที่ผ่านมา และมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มเติมจากความต้องการข้าวในตลาดโลกที่ยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งภูมิภาคแอฟริกา ทำให้มีคำสั่งซื้อมารองรับผลผลิตข้าวที่จะออกในช่วงปลายปีได้เป็นอย่างดี สำหรับการส่งมอบข้าวแบบจีทูจีให้รัฐบาลจีนในงวดที่ 5 ปริมาณ 1 แสนตัน แล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 และอยู่ในระหว่างการเจรจาตกลงซื้อขายข้าวงวดที่ 6 ปริมาณ 100,000 ตัน และภาคเอกชนของไทยชนะการประมูลนำเข้าข้าวในประเทศญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์มีแผนขยายตลาด โดยจัดคณะผู้แทนไปเจรจาขยายตลาด จัดกิจกรรมส่งเสริมประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ และคุณภาพข้าวไทยในประเทศจีนและตลาดสำคัญทั่วโลก
ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาโครงการข้าวตามนโยบายของรัฐบาล จำนวน 6 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2551 (2) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2552 (3) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2554/55 (4) โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปี 2555 (5) โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 (6) โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57 ซึ่งอยู่ระหว่างการระบายข้าวและส่งมอบ จากเดิมสิ้นสุดเดือนกันยายน 2561 เป็นสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2561 และมอบหมายให้ อคส. และ อ.ต.ก. เร่งระบายจ่ายข้าวออกจากคลังสินค้ากลาง และเบิกค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาข้าวสารที่ค้างจ่ายให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ที่ประชุมรับทราบการดำเนินงานมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 60/61 ด้านการตลาด ในการดึงอุปทานข้าวเปลือกออกจากตลาดเป้าหมาย 12.5 ล้านตัน ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวค่าปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าว และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และ โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ซึ่งสามารถดึงอุปทานออกจากตลาดได้ 6.64 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 53.12 ของเป้าหมาย ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิที่มีราคาถึงตันละ 15,500-18,500 บาท
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบแผนการดำเนินโครงการเชื่อมโยงการผลิตและการตลาดข้าว กข43 และผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว ปีการผลิต 2561/62 ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี โดย
(1) สหกรณ์การเกษตรและกลุ่มวิสาหกิจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 52 แห่ง แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการรับซื้อ ข้าว กข43 จากเกษตรกรภายใต้ระบบนาแปลงใหญ่ในราคานำตลาด (ตกลงราคารับซื้อสูงกว่าข้าวเจ้าแต่ไม่เกินข้าวปทุมธานี) พื้นที่เพาะปลูกเป้าหมาย 31,183.75 ไร่ คาดการณ์ผลผลิต ประมาณ 10,000 ตันข้าวสาร
(2) ผู้ประกอบการแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว และผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว โดยมีผู้ประกอบการแปรรูปข้าวเพื่อผลิตน้ำนมข้าว จำนวน 5 ราย แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะรับซื้อผลผลิตข้าวจากเกษตรกรระบบนาแปลงใหญ่ในราคานำตลาด และได้รับราคาที่สูงเพิ่มมากขึ้น
(3) ร่วมกับองค์การอาหารและยา ในการประชุมหารือเพื่อสร้างความเข้าใจการเผยแพร่ฉลากผลิตภัณฑ์ข้าว กข43 เพื่อป้องกันปัญหาการแอบอ้างสรรพคุณข้าว กข43 ที่เกินจริง
(4) ร่วมกับโมเดิร์นเทรด กำหนดจัดกิจกรรม “บอกรักแม่ด้วยกระเช้าผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าว” ระหว่างวันที่ 9-16 สิงหาคม 2561 และกิจกรรม “รณรงค์บริโภคน้ำนมข้าวในช่วงเทศกาลกินเจ” ระหว่างวันที่ 8-17 ตุลาคม 2561 ในห้างโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ
(5) การประชาสัมพันธ์ส่งเสริมและสร้างการรับรู้คุณประโยชน์ของการบริโภค ข้าว กข43 และผลิตภัณฑ์น้ำนมข้าวผ่านสถานีวิทยุ และรายการอาหารเพื่อสุขภาพที่มีชื่อเสียงระดับประเทศตลอดช่วงระยะเวลาเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2561
(6) กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงาน เดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพ รณรงค์ให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและคุณประโยชน์ ตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2561 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2561/62 ด้านการตลาด 3 โครงการ ดังนี้
(1) โครงการสินเชื่อช่วยเหลือชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ให้สินเชื่อแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อชะลอการจำหน่ายผลผลิตข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ในเขตพื้นที่เพาะปลูกทุกจังหวัด เป้าหมาย 2 ล้านตันข้าวเปลือก โดยให้ค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท โดยจ่ายพร้อมสินเชื่อก่อน ตันละ 1,000 บาท และภายหลัง 500 บาท
ทั้งนี้ มีโครงการสินเชื่อเพื่อสร้างยุ้งฉางให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ซึ่ง คชก. ได้อนุมัติกรอบวงเงินเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 จำนวน 250 ล้านบาท เป้าหมาย เกษตรกรรายคนและสถาบันเกษตรกร ที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ ประมาณ 10,000 ราย โดยกำหนดวงเงินกู้กรณีเกษตรกรรายคนไม่เกินรายละ 150,000 บาท และกรณีสถาบันเกษตรกรแห่งละไม่เกิน 3,000,000 บาท
- การกำหนดวงเงินสินเชื่อ โดยพิจารณาจากราคาตลาดเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ราคาที่เกษตรกรควรจะได้รับ (จากต้นทุนการผลิต+กำไรที่ควรจะได้รับ) และราคาข้าวเปลือกที่สะท้อนจากราคาส่งออกที่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในตลาดโลก ดังนี้ ข้าวหอมมะลิ 11,800 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเหนียว 10,200 บาท/ตัน ข้าวเปลือกเจ้า 7,500 บาท/ตัน ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 8,900 บาท/ตัน
ทั้งนี้ สถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องจัดสรรค่าฝาก ตันละ 1,000 บาท ให้แก่สมาชิก (ปีที่ผ่านมาสมาชิกไม่ได้รับค่าฝากเก็บ)
- ระยะเวลาดำเนินการ 1 พ.ย.61 – 28 ก.พ.62 (ภาคใต้ ถึง 31 ก.ค.62)
ทั้งนี้ จะช่วยเหลือเฉพาะเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเพาะปลูกข้าวนาปี 2561/62 กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เท่านั้น จึงขอให้เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวในปีนี้แล้ว แจ้งการขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานเกษตรในพื้นที่ เพื่อสามารถเข้าร่วมโครงการฯ ช่วยเหลือเกษตรกรของรัฐบาลต่อไป
2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้สินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน ศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป เป้าหมาย 2 ล้านตัน โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 และสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ระยะเวลา 1 ต.ค.61 – 31 ธ.ค.62
3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ทั้งนี้ โรงสีต้องรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรในช่วง 1 พ.ย.61- 31 มี.ค.62 ภาคใต้ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย.62
ทั้งนี้ ให้ ธ.ก.ส. และกระทรวงพาณิชย์ จัดทำรายละเอียดงบประมาณเพื่อนำเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลัง พ.ศ. 2561 ตามระเบียบ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ที่ประชุมยังรับทราบการระบายข้าวในสต็อกของรัฐ โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 รัฐบาลได้นำข้าวในสต็อกออกมาระบายเข้าสู่อุตสาหกรรม ซึ่งได้รับการอนุมัติจำหน่าย รวมทั้งสิ้น 1.96 ล้านตัน มูลค่า 10,198 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำสัญญาซื้อขายระหว่างผู้ชนะการประมูลกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และ องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) แบ่งเป็น
- การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน (กลุ่มที่ 2) ครั้งที่ 1/2561 ปริมาณ 1.44 ล้านตัน มูลค่า 8,410 ล้านบาท
- การจำหน่ายข้าวสารในสต็อกของรัฐเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ (กลุ่มที่ 3) ครั้งที่ 1/2561 ปริมาณ 0.52 ล้านตัน มูลค่า 1,788 ล้านบาท
ปริมาณข้าวคงเหลือข้าวที่จะนำออกมาระบายเข้าสู่อุตสาหกรรมภายในเดือนกันยายน 2561 ปริมาณรวม 0.069 ล้านตัน แบ่งเป็น ข้าวกลุ่มที่ 2 ปริมาณ 0.047 ล้านตัน และกลุ่มที่ 3 ปริมาณ 0.022 ล้านตัน
------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการ นบข.)
ที่มา: http://www.thaigov.go.th