นายกรัฐมนตรีเป็นประธานสักขีพยานการมอบหนังสืออนุญาต ให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน-มอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชน ภาค ตอ.เฉียงเหนือตอนล่าง 2

ข่าวทั่วไป Tuesday July 24, 2018 14:07 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเป็นประธานสักขีพยานในโอกาสการมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน และการมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 พร้อมพบปะประชาชน จ.อุบลราชธานี

วันนี้ (23 กรกฎาคม 2561) เวลา 17.30 น. ณ สวนสัตว์อุบลราชธานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานสักขีพยานในโอกาสการมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน และการมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 (อุบลราชธานี อำนาจเจริญ ศรีษะเกษ และยโสธร) โดยมีพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้มอบให้แก่ นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 2 พื้นที่ 1 จังหวัด ประกอบด้วย พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงภูโหล่น จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าบุณฑริก บ้านโสกก่อ ตำบลห้วยข่า อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี

ทั้งนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนด้านที่ดินทำกินตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งเป็นการจัดที่ดินทำกินให้แก่ผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ดินทำกินโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ แต่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐเป็นกลุ่มหรือชุมชนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข รวมทั้งการส่งเสริมการประกอบอาชีพตามศักยภาพของพื้นที่

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเป็นสักขีพยานการมอบหนังสือแสดงโครงการป่าชุมชน จำนวน 20 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ตามนโยบายที่ให้ชุมชนร่วมกับภาครัฐในการบริหารจัดการดูแลเพื่อให้ป่าเกิดความยั่งยืน โดยมอบให้กับผู้แทนชุมชน 4 จังหวัด ได้แก่ 1) นายเพรียวพันธ์ จันสุพรม ผู้ใหญ่บ้าน ป่าชุมชนบ้านพลาญชัย หมู่ 10 ตำบลโนนก่อ อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี 2) นายรำพรรณ สัมฤทธิ์ ผู้ใหญ่บ้าน ป่าชุมชนบ้านแดง หมู่ 3 ตำบลคูซอด อำเภอมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ 3) นายพิทักษ์ อารีภักดิ์ ผู้ใหญ่บ้าน ป่าชุมชนบ้านนาอุดม หมู่ 3 ตำบลหนองไฮ อำเภอเสนานิคม จังหวัดอำนาจเจริญ และ 4) นายอุทัย นามสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้าน ป่าชุมชนบ้านโคกนาโก หมู่ 4 ตำบลโคกนาโก อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สื่อมวลชน และประชาชนในพื้นที่ร่วมเป็นสักขีพยานกว่า 1,000 คน

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้กล่าวพบปะกับประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานีตอนหนึ่งว่า รู้สึกยินดีและมีความสุขที่ได้พบปะกับประชาชน ซึ่งการลงพื้นที่ในครั้งนี้มีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกระจายกันลงพื้นที่พบปะประชาชน เพื่อบูรณาการการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพและโอกาสที่ดีในหลายด้าน เป็นช่องทางการค้าการลงทุนที่มีความเข้มแข็งในอาเซียน ส่วนตัวมีความห่วงใยเกษตรกร ซึ่งจะต้องสร้างการรับรู้และปรับเปลี่ยนแนวคิดในการผลิต โดยต้องทำการเกษตรที่คำนึงถึงการตลาด เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งการใช้ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อการแก้ไขและบรรเทาปัญหา ติดตามราคา สถานการณ์ปัจจัยที่มีผลต่อการผลิต พร้อมยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้คู่คุณธรรม ในส่วนของรัฐบาลได้ดำเนินการเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรด้วยวิธีการที่ถูกต้องเหมาะสม ไม่สร้างความเสียหายให้ประเทศชาติ และคาดหวังให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยมีการส่งเสริมการลงทุนด้วยมาตรการต่าง ๆ สร้างความเข้มแข็งตั้งแต่ต้นทาง เชื่อมโยงไปสู่กลางทาง และขยายต่อไปสู่ปลายทาง ผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลบริหารประเทศเพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เจริญเติบโตไปข้างหน้า ทุกคนจะต้องร่วมมือกันทำให้เกิดความชัดเจนระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาชน และท้องถิ่น ลดความขัดแย้งภายในประเทศ สร้างความเข้าใจกับประชาชนในการเป็น “ประชารัฐ” ซึ่งหมายถึงประชาชนกับรัฐบาลต้องร่วมกัน โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ที่อำนวยความสะดวก เปิดช่องทางให้เอกชน ประชาชน ร่วมมือกัน พร้อมเน้นย้ำทุกภาคส่วนต้องร่วมกันบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้า ซึ่งประเทศไทยมียุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เข้มแข็ง รัฐบาลสนับสนุนให้มีการผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น กระจายรายได้สู่ทุกกลุ่มโดยอาศัยกลไกประชารัฐเพื่อการพัฒนาทั้งการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีจุดแข็งคือความรักความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่นานาประเทศให้การยอมรับ จึงเป็นส่วนสำคัญในการวางรากฐานเพื่อพัฒนาประเทศตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เป็นแผนแม่บทหลักของการพัฒนาประเทศ ซึ่งมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 เป็นกลไกสำคัญนำสู่การปฏิบัติ โดยรัฐบาลเร่งพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนเดินทางได้อย่างไร้รอยต่อ ลดระยะเวลาการเดินทาง และเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่ง ลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ มีเป้าหมายขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์สู่ Kingdom organic ผลักดันการพัฒนาเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร จัดทำระบบตรวจสอบควบคุมคุณภาพสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ประกอบการฐานรากต่อยอดสู่การค้า E-Commerce พัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ส่งเสริมความเข้มแข็งภาคการเกษตรผ่านโครงการคนกล้าคืนถิ่น สนับสนุนให้เกิดการสร้างแรงบันดาลใจเพื่อกลับไปพัฒนาบ้านเกิด ทั้งนี้ สิ่งที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างเป็นระบบและมีคุณภาพในระยะยาวได้นั้น คือความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่จะทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการพัฒนาระบบการศึกษาของไทย ที่ครูจะต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนควบคู่ไปกับนักเรียน สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อการจัดการเรียนการสอนได้อย่างเท่าทัน

ต่อจากนั้น นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเป็นประธานเปิดงานเทศกาลประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2561 ณ มณฑลพิธีทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

--------------------------

สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ