วันนี้ (3 ส.ค.61) เวลา 09.30 น. ณ ฮอลล์ 5 – 7 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Thailand Social Expo 2018 ภายใต้แนวคิด“สู่อนาคตสดใส ด้วยคนคุณภาพ Brighter Future Stronger People” พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาสังคมในยุค 4.0” โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ บูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านสังคมทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม กว่า 90 องค์กร/หน่วยงาน จัดงานดังกล่าวขึ้น ระหว่างวันที่ 3 – 5 สิงหาคม 2561 เพื่อสร้างพลังความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่ทำงานด้านสังคมของประเทศ แสดงผลงานด้านสังคมของรัฐบาลและงานมหกรรมด้านสังคมครั้งแรกของประเทศไทย ที่เป็นการแสดงผลงานนวัตกรรมทางสังคม เทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาสังคมและประชาชนกลุ่มเป้าหมายทั้งเด็กเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ผลการคิดค้นและการดำเนินงานสำคัญในด้านสังคมของไทยและอาเซียน ตลอดจนการแสดงเจตนารมณ์ในการทำงานด้านสังคมของกระทรวงฯ และภาคีเครือข่าย รวมถึงการผลักดันขับเคลื่อนนโยบายสังคมที่สำคัญของประเทศอย่างสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล โดยมี พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ภาคีเครือข่ายกระทรวงฯ หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน เข้าร่วมงานประมาณ 800 คน
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการจัดงาน Thailand Social Expo 2018ว่า ถือเป็นการรวมพลังประชารัฐจากทุกภาคส่วนในสังคมมาร่วมมือกันทำงาน พร้อมกล่าวถึงเรื่อง “การขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาสังคมในยุค 4.0” ว่า คนไทยทุกคนต้องพัฒนาและปรับตัวให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ของโลก ซึ่งจะเป็นการเดินหน้าไปสู่การใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมประเทศสู่ประเทศไทย 4.0 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นดังกล่าว โดยขณะนี้รัฐบาลกำลังเดินหน้าประเทศไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และมีการจัดทำแผนแม่บท โดยทุกกระทรวง ทบวง กรม จะต้องเร่งดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการออกมาและให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อร่วมกับขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยร่วมมือกันในรูปแบบประชารัฐทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในการเสริมสร้างสังคมไทยให้มีความมั่นคงเข้มแข็ง โดยนอกจากจะพัฒนาประเทศด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมแล้ว สิ่งสำคัญต้องพัฒนาด้านสังคมของประเทศควบคู่กันไปด้วยเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาจิตใจ มีความเป็นธรรมและขจัดความเหลื่อมล้ำ เพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุข อันจะนำประเทศเดินหน้าไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในอนาคตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงความพร้อมของประเทศไทยกับความท้าทายด้านสังคมว่า สังคมในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก มีปัญหารูปแบบใหม่เกิดขึ้นมาตลอดเวลา และมีความซับซ้อนเชื่อมโยงกันหลายมิติ ตามที่ปรากฏในภาพข่าวจากสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ รวมถึงปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการก่อการร้าย การค้ามนุษย์ อาชญากรรมทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ซึ่งแนวทางการแก้ไขต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้ เราต้องทำงานเชิงรุกอย่างหนักและรวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะในเชิงป้องกันก่อนเกิดเหตุการณ์ รวมทั้งต้องมีการประเมินสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วย เพื่อหาแนวทางรองรับสถานการณ์ในอนาคต ขณะที่เจ้าหน้าที่ทุกระดับต้องมีการเตรียมความพร้อมทุกด้าน มีความจริงใจในการที่จะมาร่วมกันพัฒนาบ้านเมืองและสังคมไทยไปด้วยกัน นอกจากนี้ กุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศ คือ การพัฒนาคน หรือ ทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้ประเทศไทยของเรามีคนเก่ง คนดี มีคุณภาพ มีคุณธรรม และมีความพร้อมสำหรับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นการวางรากฐานที่เข้มแข็งสำหรับครอบครัว ชุมชนและสังคมต่อไป
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการจัดระเบียบสังคม เพื่อเดินหน้าพัฒนาให้ก้าวไกล ว่า ก่อนหน้าที่รัฐบาลจะเข้ามาบริหารประเทศ บ้านเมืองของเรามีปัญหาหลายประการ โดยรัฐบาลปัจจุบันได้เร่งสะสางปัญหาเฉพาะหน้าที่เรื้อรังมานาน ทั้งการจัดระเบียบสังคมใหม่ และวางรากฐานในการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน โดยจะเห็นจากนโยบายด้านสังคมของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ การพัฒนาศักยภาพมนุษย์ การพัฒนาประเทศไทย 4.0 และประชารัฐ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการสำเร็จในหลายเรื่อง ทั้งในระดับนานาชาติ และระดับชาติ อาทิ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ การดูแลสวัสดิการสำหรับประชาชนในภาพรวม เช่น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การศึกษาฟรี เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยความพิการ รูปแบบประกันสังคม ทั้งผู้ประกันตนในระบบและนอกระบบ กองทุนการออมแห่งชาติ การสนับสนุนการจัดสวัสดิการชุมชน รวมถึงรูปแบบช่วยเหลือทางสังคมแก่ผู้มีรายได้น้อยหรือประสบปัญหาทางสังคม การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งรัฐบาลกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ โดยความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามมาอย่างต่อเนื่อง จนสหรัฐอเมริกาเห็นถึงความพยายามจากที่เคยถูกจัดอันดับให้อยู่ทั้งระดับแย่ที่สุดและระดับที่ต้องจับตามอง และเลื่อนระดับให้ไทยอยู่ในระดับ Tier 2 การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้มีรายได้น้อย เช่น แฟลตดินแดงที่เป็นปัญหาเรื้อรังมากว่า 50 ปีคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการฟื้นฟูชุมชนเมืองดินแดง เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยกว่า 20,000 ยูนิต ซึ่งผมได้ไปเปิดอาคารและส่งมอบกุญแจห้องพักอาศัย ระยะที่ 1 แปลง G เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 รวมทั้งการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง เพื่อแก้ไขปัญหาการรุกล้ำลำคลองสาธารณะและปรับทัศนียภาพให้สวยงาม
นอกจากนั้น รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด รวมถึงการพัฒนาศักยภาพคนพิการ ซึ่งฐบาลให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีอาชีพและรายได้ โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้เร่งให้เกิดการจ้างงานคนพิการเพิ่มขึ้นจากที่มีการจ้างงานเพียงไม่ถึงร้อยละ 50 (ร้อยละ 49.48) ปัจจุบันมีการจ้างงานทั้งในภาครัฐและสถานประกอบการ กว่าร้อยละ 70 รวมถึงการส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระในชุมชน มากไปกว่านั้น เรายังส่งเสริมให้เขามีโอกาสได้แสดงศักยภาพในทางที่ชอบและถนัด เช่น โครงการ From Street to Star หรือ S2S และที่สำคัญในด้านการเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ นอกจากรัฐบาลได้เพิ่มเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่ยากจน การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 450,000 คน การเร่งผลักดันให้จัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ เพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน ได้ร่วมมือกันเตรียมความพร้อมในการเป็นสังคมสูงวัยกันอย่างเต็มที่ ทั้งด้านที่อยู่อาศัย infrastructure สภาพแวดล้อม การเตรียมพร้อมก่อนเกษียณ การส่งเสริมด้านเงินออม การส่งเสริมสุขภาพ พัฒนาการทางการแพทย์สำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และโรคอุบัติใหม่ซึ่งเกิดกับผู้สูงวัย ตลอดจนการดำเนินการด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายด้าน
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงก้าวต่อไปของรัฐบาลกับนโยบายด้านสังคมว่า รัฐบาลมุ่งสร้างคนไทยให้เป็นพลังสำคัญในการพัฒนาชาติ โดยใช้ “คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา” รวมทั้งมุ่งเป้าหมายที่จะพัฒนางานให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในอีกหลายประเด็น เช่น การขจัดการค้ามนุษย์ให้หมดไปจากสังคมไทย ซึ่งในเรื่องนี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนโดยต้องดำเนินการให้ได้รับการเลื่อนระดับขึ้นเป็น Tier 1 ให้ได้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน ปัจจุบันได้จัดสรรเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุสามปีแล้ว ในระยะต่อไปรัฐบาลจะขยายระยะเวลาการให้เงินอุดหนุนดังกล่าวตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุหกปี ซึ่งมีงานวิจัยยืนยันว่าการเลี้ยงดูเด็กในช่วงแรกเกิดจนถึงปฐมวัยนี้เป็นเวลาทองที่จะทำให้เด็กเติบโตได้อย่างแข็งแรงและเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในศตวรรษที่ 21 และยุคต่อ ๆ ไป และ การส่งเสริมการจ้างงานคนพิการ ต้องเร่งรัดดำเนินการโดยเร็ว การพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมบทบาทสตรี ต้องส่งเสริมเรื่องความเท่าเทียมในการเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องต่าง ๆ ทั้งการเมือง สังคม และการประกอบอาชีพ ฯลฯ โดยเฉพาะการส่งเสริมกิจกรรมที่มีคุณค่ากับสังคม รวมทั้งการรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัวและสังคมโดยขอให้ทุกคนใช้สติในการใช้ชีวิต และการเคารพกฎหมายต่าง ๆ ในสังคม การเป็นสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ ระยะต่อไปรัฐบาลยังคงมุ่งเน้นพัฒนาให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมและมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีคุณค่าต่อสังคม ใน 4 มาตรการ คือ มาตรการที่ 1 เพิ่มการจ้างงานผู้สูงอายุ เพื่อสร้างหลักประกัน / ความมั่นคงในเรื่องรายได้ของผู้สูงอายุให้สามารถเลี้ยงดูตนเองได้ยาวนานขึ้น มาตรการที่ 2 รัฐบาลพร้อมจะส่งเสริมการสร้างที่พักอาศัยที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ มาตรการที่ 3 สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Reverse mortgage) โดยใช้ที่อยู่อาศัยที่ปลอดภาระหนี้ของผู้สูงอายุเป็นหลักประกัน มาตรการที่ 4 การบูรณาการระบบบำเหน็จบำนาญ
สำหรับการพัฒนาคนไทย 4.0 นั้น นายกัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับกับการพัฒนาคนทุกช่วงวัยและทุกกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่ลืมตาดูโลกจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต โดยเฉพาะการค้นหาศักยภาพและพรสวรรค์ หรือ Talent ของเด็ก ต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก รวมทั้งการเตรียมคนของประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของความรู้ความสามารถทางด้านเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับการปฏิบัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 อย่างไรก็ตามการที่รัฐบาลส่งเสริมและพัฒนาเรื่องในเรื่องของหุ่นยนต์และเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อใช้สิ่งเหล่านี้มาทำงานร่วมกับคน โดยยืนยันไม่ต้องการให้คนได้รับผลกระทบหรือตกงาน แต่ต้องการให้คนในประเทศพัฒนาตนเองให้ทันกับสถานการณ์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศในอนาคตตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ในส่วนของการประกอบอาชีพ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการยกระดับจาก “ผู้ใช้แรงงาน” เป็น “ผู้ใช้พลังสมอง” เน้นความมั่นคงในอาชีพและรายได้ โดยได้ดำเนินการหลายด้าน เช่น (1) จัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) (2) จัดตั้งศูนย์ที่นี่มีงานทำ (Job Ready Center) (3) สร้างระบบมาตรฐานแรงงานเพื่อให้คนทำงานได้รับค่าจ้างค่าแรงและสวัสดิการที่เป็นธรรม เป็นต้น
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวฝากทุกภาคส่วนว่า วันนี้จะมองเพียงเศรษฐกิจด้านเดียวไม่ได้ แต่ต้องมองครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านสังคม สิ่งแวดล้อม การรักษาป่า การดูแลประชาชนทุกกลุ่มของประเทศ พร้อมกล่าวขอขอบคุณกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่ผสานพลังในการจัดงาน“Thailand Social Expo 2018” เผยแพร่ผลงานและนวัตกรรมทางสังคม บริการ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ประชาชนได้รับทราบ และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคงไปด้วยกัน นับเป็นการแสดงพลังทางสังคมที่ยิ่งใหญ่อีกครั้ง ตามแนวคิดของงานที่ว่า “สู่อนาคตสดใส ด้วยคนคุณภาพ Brighter Future Stronger People”
ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจนายกรัฐมนตรี จะมีการเสวนาและบรรยายพิเศษและเสวนาเกี่ยวกับการจัดงาน โดยผู้บริหารกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และภาคเอกชน
สำหรับงาน Thailand Social Expo 2018 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 สิงหาคม 2561 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ณ ฮอลล์ 5 – 8 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ภายในงานมีกิจกรรมหลัก ได้แก่ การประชุมวิชาการการแสดงผลงานนวัตกรรม การแสดงผลิตผลด้านสังคม และการแสดงศักยภาพของกลุ่มเป้าหมายและภาคีเครือข่าย ซึ่งประกอบด้วย 4 Zone ดังนี้ 1) การประชุมวิชาการ เสวนา ปาฐกถา การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการพัฒนาสังคม และการนำเสนอรายงานสถานการณ์ทางสังคมทั้งในเชิงประเด็นและเชิงกลุ่มเป้าหมาย อาทิ "พลังสตรีอาเซียน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”ASEAN Women Empowerment and Economic development “เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หยุดการกระทำความรุนแรงในทุกรูปแบบ” “Digital Society : ความท้าทายต่อกระบวนทัศน์การพัฒนาเด็กและเยาวชน” “การนำเสนอมติสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ” เป็นต้น 2) การแสดงผลงานนวัตกรรมด้านสังคมของประเทศไทย ซึ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อพัฒนาสังคม ต้นแบบที่ดีของการพัฒนาสังคม เทคโนโลยีเพื่อสังคม อาทิ การจำลองบ้านและที่อยู่อาศัยที่เอื้อต่อคนพิการ การจำลองสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ นวัตกรรมโรงรับจำนำ นวัตกรรมด้านการออม การเปิดจองนวัตกรรมสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ และการให้บริการทางสังคม อาทิ การทำบัตรประชาชนเคลื่อนที่การออกหน่วยให้บริการทำบัตรประจำตัวคนพิการ การลงทะเบียนทำบัตรผู้แสดงความสามารถในที่สาธารณะ รถทันตกรรมเคลื่อนที่ การนวดแผนไทย บริการวัดสายตาและบริการแว่นตา การประมูลทรัพย์หลุดจำนำ เป็นต้น 3) การแสดงผลิตผลด้านสังคมของกลุ่มเป้าหมายและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน อาทิ ธงฟ้าราคาประหยัด สินค้า OTOP ตลาดเคหะประชารัฐ เครื่องอุปโภคบริโภคในรูปแบบตลาดชุมชน ผลิตภัณฑ์ทอฝัน By พม. บริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ สินเชื่อประชารัฐการเปิดจองบ้าน ผ่านระบบ Online ในโครงการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เป็นต้น และ 4) การแสดงศักยภาพของกลุ่มเป้าหมายและภาคีเครือข่าย เพื่อเสริมสร้างเจตคติที่ดี และสร้างสรรค์ของคนในสังคม อาทิ การแสดงศิลปิน S2S กับนักร้องวงดุริยางค์ทหารบกการแสดงโขนรามเกียรติ์ของผู้พิการทางการได้ยินตอน “ยกรบ” การแสดงของชนเผ่าอาข่า การเดินแฟชั่นโชว์ผู้สูงอายุ โดยคุณต่าย เพ็ญพักตร์ ศิริกุล และทีมมีสแกรนด์ ปี 2018
---------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th