รองนรม. พล.อ.ประวิตรฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อน และปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้งที่ 7/2561

ข่าวทั่วไป Thursday August 16, 2018 15:21 —สำนักโฆษก

ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบรายงานผลความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ ด้านต่าง ๆ อาทิ ชุมชนคลองลาดพร้าว การประมง การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ การจราจรใน กทม.และตลาดจตุจักร

วันนี้ (15 สิงหาคม 2561) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้งที่ 7/2561 ซึ่งสรุปสาระสำคัญดังนี้

ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบรายงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการรุกลำน้ำสาธารณะ (ลาดพร้าว) ซึ่งมีความคืบหน้า โดยได้ก่อสร้างเขื่อนคลองลาดพร้าว ซึ่งมีความยาวประมาณ 45.30 กิโลเมตร สามารถตอกเสาเข็มได้ จำนวน 23,912 ต้น พร้อมนำร่องก่อสร้างบ้านครอบคลุม จำนวน 31 ชุมชน เพื่อดูแลจำนวน 2,792 ครัวเรือน

รวมทั้ง ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบรายงานผลการดำเนินการของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการปรับภูมิทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้มีการรื้อย้ายบ้านรุกล้ำลำน้ำ จำนวน 51 หลัง ขณะเดียวกันได้ดำเนินการในระยะแรก ประกอบด้วย แผนงานที่ 1 จัดทำทางเดินริมแม่น้ำ แผนงานที่ 2 ปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน แผนงานที่ 3 พัฒนาท่าเรือสาธารณะ แผนงานที่ 4 พัฒนาศาลาท่าน้ำ แผนงานที่ 5 พัฒนาพื้นที่บริการสาธารณะ และแผนงานที่ 6 พัฒนาเส้นทางการเข้าถึงพื้นที่ตามลำดับ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบรายงานความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งได้มีการจัดการกองเรือประมง จำนวนเรือทั้งสิ้น 19,405 ลำ ส่วนการติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมาย มีการยื่นเอกสารผ่านระบบ E-PIPO มีค่าเป้าหมายครบถ้วนสมบูรณ์ 100 % เรียบร้อยแล้ว

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานผิดกฎหมาย (อกคร.) ประกอบด้วย ด้านการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมาย อาทิ การเพิ่มศักยภาพของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย การเร่งรัดดำเนินคดี เจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ การเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสถานบริการ การอายัดและยึดทรัพย์ผู้กระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ การให้ความคุ้มครองแก่พยาน และการเพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ อาทิ การส่งเสริมให้ผู้เสียหายมีงานทำทั้งในและนอกสถานคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ การตรวจสอบมาตรฐานสถานคุ้มครองฯ และการติดตามสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายที่เป็นตัวเงินให้กับผู้เสียหาย ส่วนด้านการป้องกัน อาทิ การฝึกอบรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย การจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามระบบ การเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย และการจับกุม-ส่งกลับผู้หลบหนีเข้าเมือง โดยผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ด้านแรงงาน) ได้แก่ ด้านการพัฒนากฎหมาย ด้านการป้องกัน ด้านการบังคับใช้กฎหมาย ด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานและด้านการคุ้มครองผู้เสียหายตามลำดับ ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้บรรลุผลสำเร็จตามนโยบายของรัฐบาลโดยเร็วที่สุด

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศ อย่างเป็นระบบ โดยให้ยกเลิกการนำเข้าซากชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและเศษอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำรายการสินค้าที่ห้ามนำเข้าพร้อมออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เพื่อกำหนด E-waste เป็นสินค้าต้องห้ามการนำเข้าตลอดจนมอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมฯ และห้ามโรงงานใช้วัตถุดิบที่เป็นชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและเศษอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) จากต่างประเทศ มาใช้หรือผลิตในโรงงาน และมอบหมายให้กรมศุลกากร กำหนดพิกัดศุลกากร ตามชนิดของสินค้าที่ประกาศห้ามนำเข้าโดยเคร่งครัดอีกด้วย

รวมทั้ง ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบรายงานผลคืบหน้าการแก้ไขปัญหาจราจรในเขต กทม. และปริมณฑล เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในการสัญจรและให้คำนึงถึงความปลอดภัยมากที่สุด ขณะเดียวกัน ขอให้เร่งสำรวจและซ่อมปรับผิวการจราจรที่ชำรุด หรือเป็นปัญหาของอุบัติเหตุในภาพรวมจากการเสียการทรงตัวและการชะลอตัวของรถ พร้อมได้กำชับให้ กทม. เตรียมการให้พร้อมรับมือกับน้ำท่วมในฤดูฝน และวางแผนเร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุด โดยประธานที่ประชุมกล่าวว่า “วินัยจราจรสะท้อนวินัยชาติ” พร้อมบูรณาการขับเคลื่อนและประสานงานกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังและต่อเนื่องผ่าน “ศูนย์ควบคุมสั่งการและแก้ไขปัญหาจราจร” อย่างจริงจังและเป็นระบบ ขณะเดียวกัน มีการรับฟังเสียงสะท้อนของประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ประสานกับกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้ความสำคัญในการกวดขันวินัยจราจร และกำหนดมาตรการเข้มงวดกับกลุ่มที่ละเลยกฎหมาย โดยเฉพาะกลุ่มรถสาธารณะประเภทรถโดยสารร่วมหรือรถสาธารณะทั่วไป รวมทั้งคำนึงถึงการเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งมีการประเมินผลทุกสัปดาห์และปรับแผนการปฏิบัติให้สามารถบริหารจัดการจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตอนท้ายของการประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบรายงานผลคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนผู้ค้ารายย่อยในตลาดนัดจตุจักร เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนผู้ค้าฯ นับหมื่นรายที่ประกอบอาชีพโดยสุจริต โดยเน้นให้รักษาผลประโยชน์ของภาครัฐและภาคประชาชนตามแนวทาง “ประชารัฐ” ของรัฐบาล จึงมีข้อเสนอในการเข้ามาดูแลในเรื่องปัญหาต่าง ๆ เช่น ปัญหาการเรียกเก็บค่าเช่าแผงค้าที่สูง ปัญหาการบริหารงานในตลาดนัดจตุจักร ปัญหาการทุจริตรายได้ของรัฐในตลาดนัดจตุจักร โดยขอให้พิจารณาหารือร่วมกันระหว่างบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทะศไทย และกรุงเทพมหานคร เพื่อได้ข้อสรุปร่วมกันในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนผู้ค้ารายย่อยฯ ดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

.......................................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ