วันนี้ (24 สิงหาคม 2561)เวลา 18.00 น. ณ ห้องบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ บี 2 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2561 โดยมีผู้ร่วมงานประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงและปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคณะกรรมการและผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจและสื่อมวลชน จำนวนกว่า 800 คน เข้าร่วมงาน
เมื่อนายกรัฐมนตรี เดินทางมาถึง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง นายประภาศ คงเอือด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2561 ซึ่งมีการจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2548 และในปีนี้จะรอบครอบปีที่ 14 ของงานมอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น เพื่อประกาศให้สาธารณชนได้รับทราบถึงผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจดีเด่นในด้านต่าง ๆ เพื่อให้รัฐวิสาหกิจได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาประสิทธิภาพ ให้กับองค์กรและเป็นการสร้างขวัญกำลังใจต่อผู้บริหารและพนักงานมากยิ่งขึ้น
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้มอบรางวัลรัฐวิสาหกิจดีเด่น ประจำปี 2561 จำนวน 41 ราย ซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงต่าง ๆ พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในโอกาสมอบรางวัลฯ ความตอนหนึ่งว่า รัฐวิสาหกิจ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้า และมีส่วนสำคัญในการให้บริการด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ รวมทั้งงานในด้านต่าง ๆ ตามนโยบายรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ขณะเดียวกัน รัฐบาลจึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนารัฐวิสาหกิจของไทยให้เป็นหน่วยงานที่มีการบริหารจัดการที่ดีบนพื้นฐานหลักธรรมาภิบาลที่มีความโปร่งใสและมีคุณธรรม โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารกิจการรัฐวิสาหกิจ พร้อมทั้ง ให้ความสำคัญกับการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาการผลิต และการให้บริการที่มีประสิทธิภาพแก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมทั้งในด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ทั้งไฟฟ้า น้ำประปาที่อยู่อาศัย การคมนาคมขนส่ง รวมถึงการให้บริการทางการเงิน
นอกจากนี้ รัฐบาลได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ เพื่อพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนในทุกมิติ และเพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศให้ก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 โดยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ คนร. ที่ผมเป็นประธาน ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2560 – 2564 ที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ และสอดคล้องกับแผนต่าง ๆ ของรัฐบาล เพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินบทบาทในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ของประเทศในด้านต่าง ๆ ได้ตามเป้าหมาย และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การพัฒนาประเทศไทยสู่ประเทศไทย 4.0 จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐวิสาหกิจและทุกภาคส่วน ซึ่งหากรัฐวิสาหกิจทุกหน่วยงานร่วมแรงร่วมใจกัน ในการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐจะส่งผลให้ประชาชนได้รับบริการ และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ประเทศมีความก้าวหน้าทัดเทียมประเทศอื่น ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ในการพัฒนางานต่าง ๆ ของรัฐบาลเพื่อเป็นประเทศไทย 4.0 จะต้องมีการลงทุนพัฒนาประเทศเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนมีบริการสาธารณะ ที่มีคุณภาพและประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันได้ในระยะยาว ซึ่งการลงทุนที่จำเป็นต่าง ๆ ก็จะมีทั้งโครงการที่มีผลตอบแทนทางการเงิน และ ไม่มีผลตอบแทนทางการเงิน และด้วยข้อจำกัดในด้านทรัพยากรของภาครัฐในการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ในขณะที่มีความต้องการให้เกิดการพัฒนาที่รวดเร็ว
พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับโครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ (Public Private Partnerships : PPP) ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้รัฐวิสาหกิจสามารถพัฒนาโครงการลงทุนต่าง ๆ ได้ และมีการลงทุนภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง โดยอาศัยความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมของภาคเอกชน เพื่อช่วยเร่ง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงการของประเทศ ทั้ง Thailand Future Fund และ PPP ที่มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำว่า ปัจจุบัน รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค ASEAN รวมทั้งผลักดันอุตสาหกรรมตาม New S - Curve และเป็นประเทศไทย 4.0 ซึ่งก็คือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) ซึ่งรัฐวิสาหกิจจะมีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จของ EEC อย่างมาก โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่เพื่อรองรับการพัฒนาของ EEC เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ของการรถไฟ แห่งประเทศไทย โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเดินทาง รวมทั้งการขนส่งสินค้า ให้สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
...........................................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th