นายกรัฐมนตรีร่วมการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 4

ข่าวทั่วไป Tuesday August 28, 2018 15:15 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีร่วมการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 4

วันนี้ (อังคาร 28 สิงหาคม 2561) พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของไทยในการเข้าร่วมการประชุมผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 4 (Fourth BIMSTEC Summit) ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 30-31 สิงหาคม 2561 ณ กรุงกาฐมาณฑุ สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเนปาล โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังมีกำหนดหารือทวิภาคี กับนายนเรนทร โมที (H.E. Mr. Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐอินเดีย และ นายคัดห์กา ปราสาด ชาร์มา โอลิ (The Right Honourable Khadga Prasad Sharma Oli) นายกรัฐมนตรีเนปาล ด้วย

ประเด็นของการประชุมหลักคือ “การมุ่งสู่ความสงบสุข ความมั่นคั่งและยั่งยืนแห่งภูมิภาคอ่าวเบงกอล” (Towards a Peaceful, Prosperous and Sustainable Bay of Bengal Region) และในการประชุมผู้นำอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) ผู้นำ BIMSTEC จะได้หารือ อย่างไม่เป็นทางการ ใน 4 หัวข้อ ได้แก่ 1) การจัดลำดับความสำคัญของความร่วมมือ BIMSTEC (Rationalization and Prioritization of Areas of Cooperation) 2) การจัดทำกฎบัตรสำหรับ BIMSTEC สำหรับการบริหารจัดการองค์กร ภายใต้ปริญญากรุงเทพฯ (ค.ศ. 1997 ) (Charter for the Organization Building on the Principles of the Bangkok Declaration) 3) ความเชื่อมโยงภายใต้กรอบความร่วมมือ BIMSTEC (BIMSTEC Connectivity) และ 4) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธในภูมิภาค (Buddhist Circuit to Promote Tourism in the Region)

ทั้งนี้ ผู้นำ BIMSTEC จะมีการลงนามความตกลง ในกรอบการประชุมความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบไฟฟ้า ภายใต้กรอบ BIMSTEC (MoU for the Establishment of the BIMSTEC Grid Interconnection) ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี ภายใต้กรอบ BIMSTEC ( MOA on the Establishment of BIMSTEC Technology Transfer Facility ) และ ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือซึ่งกันและกันระหว่างสถาบันการทูตของประเทศสมาชิก BIMSTEC (MoU Cooperation between Diplomatic Academies of BIMSTEC Member States) ก่อนจะมีพิธีส่งมอบตำแหน่งประธานการประชุมความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจให้กับศรีลังกาต่อไป

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี จะได้แสดงวิสัยทัศน์ ในที่ประชุม โดยเน้นการผลักดันความร่วมมือ ความเชื่อมโยงครอบคลุมทั้งทางบกและทางทะเล การค้าและการลงทุน และการสร้าง Visibility ของ BIMSTEC โดยเน้น “คน” เป็นศูนย์กลาง ซึ่งจะสอดรับกับนโยบายของไทยที่มีแนวทางเพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

สำหรับผลลัพธ์ของการประชุม คือ ปฏิญญาการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 4 (Fourth BIMSTEC Summit Declaration) ครอบคลุมการปฏิรูปกรอบความร่วมมือเพื่อให้สอดคล้องกับภูมิรัฐศาสตร์ และสถานการณ์ปัจจุบัน เป็น 5 เสาหลักของความร่วมมือ ประกอบด้วย ความเชื่อมโยง การค้าและการลงทุน ปฏิสัมพันธ์ในระดับประชาชน ความมั่นคง และวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาอ่าวเบงกอล/BIMSTEC (Bay of Bengal / BIMSTEC Development Fund)

อนึ่ง กรอบความร่วมมือ BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectorial Technical and Economic Cooperation -BIMSTEC) ก่อตั้งเมื่อ 6 มิถุนายน 2540 ภายใต้แรงผลักดันของไทยเพื่อเชื่อมโยงนโยบาย Look West ของไทยกับ นโยบาย Look/Act East ของประเทศกลุ่มเอเชียใต้ ด้วยภูมิรัฐศาสตร์ ไทยจะเป็นสะพานเชื่อมโยงภูมิภาคทั้งสองเข้าด้วยกัน BIMSTEC จึงเป็นกรอบความร่วมมือ ทางวิชาการและทางเศรษฐกิจระหว่าง 7 ประเทศ ประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย โดยเน้นความร่วมมือ ด้านการค้าและการลงทุน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่ง บนพื้นฐานความเท่าเทียมกัน การเป็นหุ้นส่วนกัน เพื่อนำไปสู่สันติภาพ ความก้าวหน้าและการเจริญเติบโตของภูมิภาค BIMSTEC จึงเป็นหนึ่งกลไกสำคัญ ที่จะทำให้ไทยสามารถขยายความสัมพันธ์เพื่อร่วมกับประเทศสมาชิกในการใช้ศักยภาพของภูมิภาคนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดร่วมกัน ทั้งนี้ ตามกำหนดการไทยจะเป็นประธานกรอบความร่วมมือ BIMSTEC ในปี 2563 ด้วย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ