วันนี้ (10 ก.ย.61) เวลา 13.30 น. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา ครั้งที่ 1/2561 โดยมี พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายแนวทางการพัฒนาการศึกษาควรน้อมนำพระราชดำรัสของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 และต้องมุ่งผลลัพธ์ของผู้เรียน ทั้งนี้ ควรกำหนดจุดเน้นในการพัฒนาผู้เรียนในแต่ละช่วงวัยและระดับการศึกษาที่ชัดเจน อาทิ ระดับอนุบาล ประถมศึกษา ควรเน้นพัฒนาการ ทักษะความรู้ที่เหมาะสม ระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา เน้นการพัฒนาทักษะความรู้ ทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่และทิศทางการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ การขับเคลื่อนการพัฒนาจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับภาคีการพัฒนาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในระดับพื้นที่เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานการศึกษา อาทิ การพัฒนาโรงเรียนร่วมพัฒนา การพัฒนาโรงเรียน/ห้องเรียนกีฬา การพัฒนานวัตกรรมการศึกษา โดยควรมีการขยายผลให้ครอบคลุมทุกกลุ่มจังหวัด รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้นักเรียน/ประชาชนค้นคว้าหาความรู้ผ่านห้องสมุด เพื่อให้นำความรู้มาถกแถลงและต่อยอดองค์ความรู้ให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรมีการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจต่อสาธารณชนถึงประโยชน์ของการพัฒนาการศึกษาทั้งในมิติของนักเรียน ครู และสถานศึกษาให้ชัดเจน และที่สำคัญในการจัดทำแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ควรจัดทำแผนแม่บทที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้ชัดเจนด้วย
1. โครงการขยายระยะเวลาการเพิ่มการผลิตและพัฒนาการจัดการศึกษา สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ (ปีการศึกษา 2561 – 2565) เพื่อพัฒนาสุขภาวะของประชาชนและตอบสนองยุทธศาสตร์ประเทศ ระยะที่ 1 (ปีการศึกษา 2561–2562) ของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อผลิตพยาบาลวิชาชีพในระดับปริญญาตรีรองรับการขยายศักยภาพการให้บริการด้านสาธารณสุข โดยเห็นชอบให้ดำเนินการในปีการศึกษา 2561-2562 เพื่อผลิตพยาบาลเพิ่มจำนวน 5,268 คน ทั้งนี้ เห็นควรพิจารณากำหนดเงื่อนไข/มาตรการให้ผู้สำเร็จการศึกษาอยู่กับภาครัฐได้ยาวนานขึ้น และหาแนวทางในการร่วมผลิตกับภาคเอกชน
2. โครงการพัฒนาระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มการศึกษาแห่งชาติเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลระหว่างกระทรวง/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นควรให้นำโครงการดังกล่าวไปหารือร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เพื่อจัดทำโครงการในลักษณะภาพรวมของประเทศ ให้มีความครอบคลุมทั้งเรื่องทักษะความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) นโยบาย (Policy) วิธีการสอน (Pedagogy) และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) รวมทั้งคำนึงถึงการออกแบบและการบริหารจัดการข้อมูลโดยควรมีนักการศึกษาที่เชี่ยวชาญด้าน Big data ร่วมด้วย
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานการปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญใน 2 ส่วน กล่าวคือ (1) การดำเนินการในลักษณะของการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ (Disruption reform) อาทิ การประกันคุณภาพการศึกษารูปแบบใหม่ การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของครู การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาจัดการศึกษาในไทย การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และ (2) การเพิ่มประสิทธิภาพในระบบจัดการศึกษา อาทิ โรงเรียนร่วมพัฒนา พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา การบริหารศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา การผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โดยมีรายละเอียดสำคัญ ดังนี้
การประกันคุณภาพการศึกษารูปแบบใหม่ เพื่อปรับปรุงระบบประเมินให้ชัดเจน ไม่เป็นภาระแก่ครูและนักเรียน เป็นการประกันคุณภาพเพื่อการพัฒนา และให้หน่วยงานทำหน้าที่สอดคล้องและไม่ซ้ำซ้อนกัน โดยจะเริ่มการประเมินคุณภาพการศึกษาภายนอกรอบที่ 4ในเดือนนี้
Boot Camp for English Teachers การเปลี่ยนวิธีฝึกครูให้มีพื้นฐานภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น โดยการอบรมแบบมีประสิทธิภาพสูงครบวงจร ตั้งแต่เนื้อหา และการสอนนักเรียน ทั้งนี้จะให้มหาวิทยาลัยราชภัฏจำนวน 15 แห่งรับเป็น Bootcamp center โดยมี British Council ทำหน้าที่ประเมินผลต่อไป
การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาจัดการศึกษาในไทย ได้แก่ (1) มหาวิทยาลัย Carnegie Mellon พัฒนาหลักสูตรระดับปริญญาโทและปริญญาเอกในสาขาหุ่นยนต์และวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (2) Pearson พัฒนาหลักสูตรฺ BTEC ระดับ TVET สาขา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (3) มหาวิทยาลัยอมตะร่วมกับ National Taiwanese University ในการจัดหลักสูตรระดับปริญญาโทสาขา Intelligent Manufacturing System
การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยจัดให้โรงเรียนมี high-speed internet และพัฒนาระบบ PISA Online เพื่อเตรียมความพร้อมในการสอบ PISA ให้กับนักเรียน รวมถึงพัฒนาการประเมินทักษะภาษาอังกฤษ (English Assessment) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ British Council โดยใช้ AI ในการวัดทักษะการพูดและการเขียน
โรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School) เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆในการบริหารจัดการเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา โดยให้มีความอิสระในการออกแบบหลักสูตรเอง ที่เชื่อมโยงและร่วมแก้ปัญหาของชุมชน อิสระการออกแบบจัดการเรียนการสอนเอง ที่เน้นการเรียนจากประสบการณ์จริงเพิ่มขึ้น และอิสระในการบริหารจัดการเอง ให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และมุ่งผลสัมฤทธิ์เป็นสำคัญ ทั้งนี้ มีการดำเนินการแล้ว 34 จังหวัด จำนวน 50 แห่ง และมีแผนจะเปิดในภาคเรียนที่ 2 เพิ่มอีก 24 แห่ง
เขตพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พื่อให้มีนวัตกรรมออกแบบการเรียนการสอนและการจัดหลักสูตรที่มีความคล่องตัวในการทำงาน โดยมีการขับเคลื่อนประกาศจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาใน 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ศรีสะเกษ และสตูล มีโครงสร้างการบริหารในระดับพื้นที่ คือ คณะกรรมการบริหารเขตพื้นที่ มีอำนาจในการวางหลักเกณฑ์การกำหนดหลักสูตรการเรียนการสอนของสถานศึกษานำร่อง โดยมีข้อเสนอแนะให้ขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด
การบริหารศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา มีการจัดทำฐานข้อมูลกลางความต้องการกำลังคนอาชีวะจำแนกรายสาขาที่เป็นที่นิยมและที่ขาดการเปิดหลักสูตร S-Curve และหลักสูตรพัฒนาครู ทั้งนี้ มีศูนย์ครบทุกภูมิภาคแล้ว
โครงการผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนสมรรถนะสูง เน้นกระบวนการจัดการเรียนการสอนแบบ Work Integrated Learning (WIL) แบบเข้มข้น มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะฝีมือควบคู่กับการทำงาน เพื่อให้มีสมรรถนะตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ รวมถึงการฝึกทักษะระยะสั้น (6 เดือน – 1 ปี) มีสถานศึกษาอาชีวศึกษานำร่อง 27 แห่ง ใน 6 สาขาวิชา และสถาบันอุดมศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 23 แห่ง ใน 99 หลักสูตร
โครงการคูปองพัฒนาครู เป็นการกำหนดกรอบวงเงินให้ครูรายบุคคล เพื่อใช้เป็นทุนในการพัฒนาตนเองรายละ 10,000 บาท/ปี โดยเป็นการลงทะเบียนออนไลน์ในหลักสูตรที่ผ่านการรับรองจากสถาบันคุรุพัฒนา ผลจากการดำเนินโครงการ พบว่า ทำให้การใช้งบประมาณในการพัฒนาครูลดลงจากเก้าพันล้านบาทเหลือสองพันล้านบาท
การก่อตั้งสถาบันการศึกษารูปแบบโคเซ็น (KOSEN) ในประเทศไทย เพื่อผลิตนวัตกรให้กับประเทศ โดยมี 2 วิทยาเขตที่ญี่ปุ่นให้การรับรองเป็นสถาบัน KOSEN ได้แก่ KOSEN KMITL (สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง) และ KOSEN KMUTT (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี)
-------------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
(ข้อมูลจากฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา)
ที่มา: http://www.thaigov.go.th