วันนี้ (12 กันยายน 2561) เมื่อเวลา 10.15 น. พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้แทนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) on ASEAN ประจำปี 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติกรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีผู้นำระดับสูงของประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ประกอบด้วย ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย นายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายกรัฐมนตรีเวียดนาม นายกรัฐมนตรีศรีลังกา นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา
หลังจากศาสตราจารย์ ดร.Klaus Schwab ประธานกรรมการบริหาร WEF และผู้ก่อตั้ง WEF ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมแล้ว จึงเป็นการกล่าวอภิปรายของผู้นำแต่ละประเทศในหัวข้อ "อนาคตของอาเซียนในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4" โดยพลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ได้กล่าวในตอนหนึ่งสรุปว่า"สำหรับประเทศไทย การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 เป็นปรากฏการณ์สำคัญที่ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตและแนวทางการดำเนินธุรกิจของพวกเราอย่างมาก เทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทกับทุกส่วนของสังคม ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ขับเคลื่อนนโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อพัฒนาปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจของไทยไปสู่เศรษฐกิจที่เน้นการสร้างคุณค่าและขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมผ่านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประเทศไทยจะยังคงส่งเสริมความเชื่อมโยงที่ครอบคลุมหลากหลายมิติและมีประชาชนเป็นศูนย์กลางเพื่อส่งเสริมความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ในขณะที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของการสอดประสานความร่วมมือระหว่างอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งรวมถึงเอเชีย - แปซิฟิกและอินโด - แปซิฟิกด้วย”
จากนั้นในช่วงบ่าย พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง ได้พบหารือทวิภาคีกับนักธุรกิจต่างประเทศและศาสตราจารย์ ดร.Klaus Schwab จนถึงเวลา 17.00 น. จึงได้เข้าร่วมการอภิปรายในการประชุมวาระพิเศษในหัวข้อ "A New Vision for the Mekong Region" ซึ่งเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เกี่ยวกับการรวมกลุ่มของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงในปัจจุบัน รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกันมากขึ้น ทั้งนี้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้กล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงผ่านกรอบ ACMECS และการดำเนินการตาม ACMECS Master ซึ่งให้ความสำคัญกับ 3 เสาหลัก ได้แก่ ความเชื่อมโยงทางกายภาพ ความสอดประสานของกฎระเบียบ และการสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพและยั่งยืน
สำหรับ World Economic Forum (WEF) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2514 (ค.ศ.1971) โดยศาสตราจารย์ ดร.Klaus Schwab เพื่อเป็นเวทีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน ปัจจุบันมีสถานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีอิทธิพลสูง มีกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก การประชุม WEF on ASEAN เป็นเวทีประจำปีระดับภูมิภาคของ WEF
....................................................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ข้อมูลโดย พลอากาศเอก มณฑล สัชฌุกร
โฆษกประจำรองนายกรัฐมนตรี (พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง)
ที่มา: http://www.thaigov.go.th