วันนี้ (14 กันยายน 2561) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 3/2561 พิจารณาวาระสำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยภายหลังการประชุม พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธาน กนช. ได้เปิดเผยว่า การประชุม กนช. วันนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (พ.ศ.2557 - 2562) ซึ่งแบ่งเป็น 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดหาน้ำอุปโภคบริโภค เป้าหมายเพื่อให้ทุกหมู่บ้านและชุมชนเมืองมีน้ำสะอาดเพื่ออุปโภคบริโภค มีโครงการสำคัญที่ดำเนินการในระยะแรกคือ การจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่หมู่บ้านที่ไม่มีระบบประปา โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการพัฒนาระบบประปาหมู่บ้านในพื้นที่หาน้ำยากและขาดแคลนน้ำไปแล้ว 7,291 หมู่บ้านเจาะบ่อบาดาลไปแล้ว 3,073 บ่อ โรงเรียนและชุมชนมีน้ำดื่มสะอาด 2,551 แห่ง นอกจากนั้นยังขยายเขตประปาเมืองได้อีก 78 แห่ง ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิตเป้าหมายเพื่อให้ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมมีแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการจัดการอย่างสมดุล มีโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยแม่สอด (ตอนบน) จ.ตาก โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา จ.ปราจีนบุรี โดยผลงานที่ผ่านมาสามารถก่อสร้างแหล่งน้ำและระบบกระจายน้ำใหม่ จำนวน 2.53 ล้านไร่ คิดเป็นปริมาณน้ำ 1,483 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานเดิม จำนวน 4.72 ล้านไร่ พัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำในพื้นที่เกษตรน้ำฝน คิดเป็นปริมาณน้ำ 1,939ล้าน ลบ.ม.
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัยเป้าหมายเพื่อให้พื้นที่ชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญและพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและอุทกภัยน้อยที่สุด โครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง จ.ตรัง โครงการแก้มลิงบางระกำ จ.พิษณุโลก โครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา โครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยคาบสมุทรสทิงพระ จ.สงขลา โดยมีผลการดำเนินงานที่ผ่านมา คือการปรับปรุงทางน้ำเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ 291 กิโลเมตร สามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองได้ 69 แห่ง การสามารถดำเนินการปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ภาคใต้แล้วเสร็จ 91 แห่ง อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 20 แห่ง ยุทธศาสตร์ที่ 4 การจัดการคุณภาพน้ำ เป้าหมายเพื่อให้แหล่งน้ำทั่วประเทศมีคุณภาพน้ำอยู่ในระดับพอใช้ขึ้นไป และป้องกันระดับความเค็มไม่ให้เกินมาตรฐานของการเกษตร มีผลการดำเนินการด้านการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย จำนวน 58 แห่ง คุณภาพน้ำแหล่งน้ำอยู่ในระดับพอใช้ขึ้นไป 29 แห่ง พื้นที่ได้รับการป้องกันความเค็ม 3 ลุ่มน้ำ
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมและป้องกันการพังทลายของดิน เป้าหมายเพื่อให้พื้นที่ป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรมได้รับการอนุรักษ์ฟื้นฟู โดยมีพื้นที่ป่าได้รับการฟื้นฟูแล้ว 0.49 ล้านไร่ และพื้นที่ป้องกันและลดการพังทลายอีก 1.43ล้านไร่ และยุทธศาสตร์ที่ 6 การบริหารจัดการ เป้าหมายเพื่อให้การบริหารจัดการลุ่มน้ำอย่างสมดุล มีกิจกรรมและโครงการสำคัญ ได้แก่ การดำเนินงานของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการ การจัดทำร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. …. การจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ การศึกษาแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการพัฒนาระบบเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ ทั้งนี้ ได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และให้รายงานความก้าวหน้าให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้รับทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว
ในส่วนของความก้าวหน้าการปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีนั้น จะปรับชื่อใหม่เป็น “แผนแม่บท” เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายใหม่เพิ่มเติมรายยุทธศาสตร์ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนา/ขยายเขตระบบประปา เพิ่มประสิทธิภาพประปา 20,034 หมู่บ้าน และพัฒนาน้ำประปา น้ำดื่ม ให้ได้มาตรฐานและราคาที่เหมาะสมให้ครบทุกหมู่บ้าน ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มผลิตภาพการใช้น้ำ สร้างมูลค่าเพิ่มให้น้ำอีก 10 เท่าจากปัจจุบัน และเพิ่มน้ำต้นทุนโดยปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อลดความเสี่ยงภัยแล้ง ยุทธศาสตร์ที่ 3 บรรเทาอุทกภัยระดับลุ่มน้ำอย่างเป็นระบบทุกลุ่มน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำจำนวน 562 แห่ง ลำน้ำธรรมชาติสายหลักและสาขาระยะทาง 5,500 กิโลเมตร ป้องกันอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนเมือง 764 แห่ง พื้นที่รับประโยชน์ 1.7 ล้านไร่ ยุทธศาสตร์ที่ 4 เพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสีย 105 แห่ง รักษาสมดุลของระบบนิเวศ 13 ลุ่มน้ำหลัก ยุทธศาสตร์ที่ 5 การป้องกันและลดการชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ต้นน้ำ 0.45 ล้านไร่ และยุทธศาสตร์ที่ 6 การจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำ (ปกติ/วิกฤติ) ตลอดจนเจรจาความร่วมมือด้านน้ำกับต่างประเทศ ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของการดำเนินการจัดทำแผนแม่บทภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาตินั้น ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการจัดทำรายละเอียด การกำหนดผู้รับผิดชอบ เป้าหมายตัวชี้วัด และการจัดทำแผนโครงการ ซึ่งการดำเนินการในส่วนนี้มีรายละเอียดการดำเนินการมาก จึงต้องมีการขยายเวลาการเสนอร่างแผนจากเดิมจะเสนอในเดือนกันยายน เป็นเดือนตุลาคม และจะได้นำเสนอ กนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบในการประชุมครั้งต่อไป
สำหรับการดำเนินการโครงการขนาดใหญ่ และโครงการสำคัญนั้น นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. ในฐานะกรรมการและเลขานุการ กนช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาถึงการดำเนินโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญ มูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างเป็นระบบ (Area Based) ในปี 2562 ที่พร้อมดำเนินการมีทั้งสิ้น 11 โครงการ รวมวงเงินทั้งสิ้นประมาณ 73,679 ล้านบาท โดย 4 โครงการได้ผ่านการพิจารณาของ กนช. แล้วคือ โครงการประตูระบายน้ำศรีสองรัก อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จ.หนองคาย โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชี จ.ชัยภูมิ และโครงการบรรเทาอุทกภัย เมืองชัยภูมิ (ระยะที่1) คงเหลือที่จะเสนอเพิ่มเติมอีก 7 โครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและมีความพร้อมที่จะดำเนินการ คือ โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองแสนแสบ โครงการอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองทวีวัฒนา โครงการประตูระบายลำน้ำพุง-น้ำก่ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการประตูระบายน้ำบ้านก่อ พร้อมระบบส่งน้ำ จ.สกลนคร โครงการคลองระบายน้ำหลาก บางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา และโครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ
นอกจากนั้น ในด้านของการขับเคลื่อนแผนงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านพัฒนาแหล่งน้ำ สทนช. ได้จัดลำดับความสำคัญในการพิจารณาแผนงาน งบประมาณโครงการพระราชดำริที่มีความพร้อม ไม่ติดปัญหาอุปสรรคใดเป็นลำดับแรก ซึ่งสามารถจัดกลุ่มแนวทางการขับเคลื่อนโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการและยังไม่ได้ดำเนินการ ประกอบด้วย 1. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จำนวน 78 โครงการ 2. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 จำนวน 22 โครงการ และ 3. โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี จำนวน 62 โครงการ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ สำนักงาน กปร. ร่วมกับ สทนช. สรุปความก้าวหน้าในการจัดทำแผนการพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหมด เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้อย่างต่อเนื่องต่อไปด้วย
---------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
(ข้อมูลจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฝ่ายเลขานุการ กนช.)
ที่มา: http://www.thaigov.go.th