วันนี้ (19 ก.ย.61) เวลา 14.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ครั้งที่ 1/2561 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ถือเป็นการประชุมที่มีความสำคัญในการพัฒนาซึ่งจะเป็นต้นแบบในหลายประเด็น โดยเฉพาะการที่จะเชื่อมโยงในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ให้มีความประสานสอดคล้องกัน รวมทั้งสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนและพื้นที่ให้ได้มากที่สุดตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ด้วยหลักการทรงงานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ตลอดจนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บท และแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนโดยเร็วสุดภายใน 20 ปี และเพื่อให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง กระจายรายได้ไปสู่ประชาชนทุกพื้นที่ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับประชาชนทุกภาคส่วนในประเทศไทย อย่างไรก็ตามการทำงานต่าง ๆ ที่มีปัญหาซับซ้อนมายาวนาน ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการให้สำเร็จโดยง่าย แต่เชื่อมั่นว่าด้วยแรงศรัทธา และความตั้งใจจริงของทุกคนจะสามารถช่วยกันหาวิธีการและแนวทางที่จะดำเนินการให้เกิดความสำเร็จได้ โดยให้เริ่มดำเนินการในสิ่งที่ง่ายและสามารถทำได้ก่อนเพื่อเป็นการเริ่มต้นในการที่จะดำเนินการในเรื่องต่อไป
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เปิดเผยว่า การประชุม กพย. เป็นความพยายามของทุกภาคส่วนที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยมีข้อตกลงกับสหประชาชาติที่ต้องการเน้นในเรื่องของ SDGs คือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ทั้ง 17 ประเด็น โดยที่ประชุม กพย. ได้มีการพิจารณาเรื่องการผลักดันการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) มาใช้กับการวางแผนการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม โดยในส่วนของ SEA จะดำเนินการในลักษณะที่จะให้เกิดประโยชน์กับประเทศมากที่สุด โดยเฉพาะในการพิจารณาดำเนินโครงการต่าง ๆ นอกจากจะพิจารณาในเรื่องของผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังจะพิจารณารวมไปถึงในเรื่องของสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขอนามัยด้วย อีกทั้งจะเพิ่มมิติการมองให้กว้างขึ้นทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และนโยบาย ตลอดจนผลกระทบต่อความยั่งยืนในระยะยาว เช่น หากจะมีการดำเนินโครงการใดก็ตาม จะต้องมีการพิจารณาว่าก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือไม่ รวมทั้งสามารถที่จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาวโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เป็นต้น
ทั้งนี้ ประชุมได้มีการพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ โดยอาจมีการพิจารณาออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการวิเคราะห์เรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA ดังกล่าว ซึ่งวันนี้ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการกับแนวทางดังกล่าว โดยมอบหมายฝ่ายเลขานุการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการปรับรายละเอียดของขั้นตอน กระบวนงานให้ชัดเจน รวมถึงการพิจารณาเลือกโครงการที่มีความสำคัญประมาณ 3 – 4 เรื่องสำหรับในการดำเนินการดังกล่าวก่อนเสนอที่ประชุมพิจารณาในครั้งต่อไป
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการเก็บข้อมูล SDGs ของสหประชาชาติ ซึ่งมีทั้งหมด 231 ตัว โดยข้อมูลดังกล่าวจะต้องมีการเก็บข้อมูลในประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์ว่าประเทศไทยมีความก้าวหน้าในแต่ละเป้าหมายทั้ง 17 เป้าหมาย ไปมากน้อยเพียงใด รวมทั้งเพื่อนำข้อมูล Big Data ดังกล่าวมาพิจารณาสำหรับกำหนดวางแผนเป้าหมายที่จะพัฒนาจังหวัดต่อไป
----------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th