คณะผู้แทนสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน ตอบรับนโยบาย Thailand 4.0 พร้อมขับเคลื่อนเขตการค้าเสรียุโรป-อาเซีย สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่สองภูมิภาค

ข่าวทั่วไป Thursday September 20, 2018 14:00 —สำนักโฆษก

คณะผู้แทนสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน ตอบรับนโยบาย Thailand 4.0 พร้อมขับเคลื่อนเขตการค้าเสรียุโรป-อาเซีย สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่สองภูมิภาค

วันนี้ (20 กันยายน 2561) เวลา 13.30 น. คณะผู้แทนสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ASEAN Business Council: EU-ABC) เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีบุคคลระดับสูงภาครัฐเข้าร่วมหารือประกอบด้วย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ นางดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล กล่าวสรุปสาระสำคัญ การหารือดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวต้อนรับเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำอาเซียน และ เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ที่นำคณะนักธุรกิจจาก EU-ASEAN Business Council (EU-ABC) เดินทางมาเยือนไทยและเข้าพบหารือในวันนี้ โดยก่อนหน้านี้ คณะฯ ได้พบกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อแสวงหาลู่ทางและขยายความร่วมมือระหว่างไทยกับยุโรป ตลอดระยะที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลรับฟังข้อห่วงใยจากภาคเอกชน ก็เร่งดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาขจัดอุปสรรคต่างๆ อาทิ การปรับปรุงกฎระเบียบที่ล้าหลัง และกำหนดมาตรการส่งเสริมการลงทุน ทำให้ ไทยได้เลื่อนลำดับทางเศรษฐกิจ มีตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้น จากผลการจัดอันดับของหลายสถาบันต่างประเทศ ในการเดินทางเยือนหลายประเทศในทวีปยุโรปที่ผ่านมาได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี และมีกำหนดการเดินทางเยือนยุโรปอีกหลายประเทศ ขอให้มั่นใจว่า รัฐบาลได้บริหารประเทศโดยยึดตาม Roadmap เพื่อเตรียมความพร้อมที่จะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงต้นปีของปี 2562

นายกรัฐมนตรียังได้ย้ำว่า รัฐบาลยังใช้แนวทางการพัฒนาภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 และ Thailand +1 และโครงการเศรษฐกิจดิจิทัล ในการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ รวมทั้ง พัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เพื่อส่งเสริม 11 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนจากหลายประเทศทั้งภายในอาเซียนเอง จีนและญี่ปุ่น รวมทั้งสหภาพยุโรปด้วย ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์แล้ว ไทยยังเป็นเสมือนแกนกลางของอาเซียน และแกนหลักของกลุ่มความร่วมมือในอนุภูมิภาคต่างๆ ทั้ง CLMVT ACMECS GMS เป็นต้น ซึ่งไทยได้ให้ความสำคัญในการสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคทั้งเชิงกายภาพ และกฎเกณฑ์ ระเบียบต่างๆ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ที่แท้จริง

โอกาสนี้ นายปีร์กะ ตาปิโอละ (Mr. Pirkka Tapiola) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย กล่าวแสดงความชื่นชมในการบริหารประเทศที่มีพัฒนาการอย่างก้าวหน้าทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง และการนำผู้แทนภาคเอกชนยุโรปที่ประกอบด้วยถึง 21 กลุ่มอุตสาหกรรมมาไทยในวันนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียน สหภาพยุโรปพร้อมทีจะทำงานร่วมที่ไทยที่จะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน-ยุโรป เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจของทั้งสองภูมิภาคร่วมกัน

ขณะเดียวกันนายโดนัลด์ เคแนก (Donald Kanak) ประธาน EU-ABC ได้กล่าวถึงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างสหภาพยุโรป – ไทย และ สหภาพยุโรป - อาเซียน ว่าสหภาพยุโรปมีการลงทุนในไทย และภูมิภาคอาเซียน มาอย่างยาวนานต่อเนื่องในสาขาต่างๆ โดยเป็นกลุ่มประเทศที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน และเป็นพันธมิตรคู่ค้าอันดับ 3 ของไทย ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสภาธุรกิจสหภาพยุโรป ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานต่างๆ ของอาเซียน ซึ่งการที่อาเซียนมีความเชื่อมโยงอย่างเข้มข้นทำให้ศักยภาพทางเศรษฐกิจของอาเซียนแข็งแกร่งและช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ มั่นใจได้ว่าไทยจะประสบความสำเร็จในการเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า และยืนยันที่จะร่วมมือและทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐและเอกชนไทย ในการส่งเสริมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นวัตกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบาย Thailand 4.0 ด้วย

ระหว่างการหารือ นายกรัฐมนตรียังเปิดโอกาสให้ตัวแทนภาคเอกชนสหภาพยุโรป ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยผู้บริหารระดับสูง บริษัท BMW ในฐานะผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทย ที่มีการประกาศอย่างชัดเจน ในการส่งเสริมนวัตกรรมยานยนต์ยุคใหม่ ทั้งรถยนต์ไฮบริด และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งบริษัทได้ตอบรับนโยบาย Thailand 4.0 โดยได้ให้ความร่วมมือกับผู้ประกอบการภายในประเทศ ในการพัฒนาเครื่องยนต์ และส่วนประกอบ โดยไทยยังเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของภูมิภาคนี้ ผู้แทนจาก SWIFT ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกรรมด้านการเงิน ได้กล่าวสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ว่าได้ถูกกำหนดในช่วงเวลาที่เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ซึ่ง SWIFT ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ SMEs ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายดิจิทัลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ขณะที่ HSBC ในฐานะกลุ่มธนาคาร กล่าวว่า ภาคการธนาคารพร้อมสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนที่เกี่ยวข้องภายใต้นโยบาย Thailand 4.0 และ โครงการ EEC ในขณะที่ กลุ่ม Bayer ซึ่งประกอบอุตสาหกรรมการเกษตร พร้อมที่จะสนับสนุนภาคการเกษตรของไทย โดยเฉพาะด้านการพัฒนาและวิจัย และพร้อมพัฒนาให้ไทยเป็นศูนย์กลางการส่งออกสินค้าเกษตรของภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง

อนึ่ง คณะนักธุรกิจที่เข้าเยี่ยมคารวะ ประกอบด้วย ผู้แทนจากบริษัทข้ามชาติของยุโรป ซึ่งมีสำนักใหญ่ตั้งอยู่ที่ เบลเยี่ยม ฝรั่งเศส เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ในภาคธุรกิจเครื่องดื่ม ยาและเวชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ การเงิน การธนาคาร ประกันภัย ยานยนต์ โลจิสติกส์ อิเล็กทรอนิกส์ และซอฟต์แวร์ และบริษัทให้คำปรึกษาทางธุรกิจ

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ