บอร์ดบีโอไออนุมัติหลักการ 2 โครงการสัมปทาน ให้ส่งเสริมผู้ชนะประมูล ท่าอากาศยานอู่ตะเภา – ดิจิทัล พาร์ค โดยนายกฯ ย้ำทุกฝ่ายสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่และสังคม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความเข้าใจถึงการดำเนินโครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
วันนี้ (28 ก.ย.61) เวลา 13.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 5/2561 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาการให้ส่งเสริมแก่ผู้รับสัมปทานโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกของกองทัพเรือ และการให้การส่งเสริมแก่ผู้รับสัมปทานโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand) หรือ EECd สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวขอบคุณคณะกรรมการฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกคนที่ได้ร่วมกันดำเนินงานจนเกิดผลสัมฤทธิ์ในการสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศสนใจมาลงทุนใน EEC ซึ่งขณะนี้ EEC เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในหลายประเทศได้มีการกล่าวถึงการลงทุนใน EEC และการก้าวไปสู่ Thailand 4.0 ของประเทศไทยแล้ว อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรี ขอให้เพิ่มเติมการดำเนินการในประเด็นเรื่องของ Thailand+1 ด้วย เพื่อจะได้สร้างความเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับอาเซียน และขยายสู่กลุ่มประเทศต่าง ๆ ทั้งทวิและพหุต่อไป
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเน้นย้ำว่า สิ่งสำคัญคือทุกฝ่ายต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่และสังคมโดยรวมของประเทศ โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่นและให้เกิดความเข้าใจให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่และประเทศ ตลอดจนให้มีการดูแลประชาชนทุกกลุ่มรวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่และสังคมพร้อมให้ความร่วมมือสนับสนุนในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ต่อไป
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติในหลักการให้ส่งเสริมแก่ผู้ได้รับสัมปทานใน 2 โครงการ เพื่อให้หน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการดังกล่าว ได้แก่ กองทัพเรือ และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) นำไประบุไว้ในประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมประมูล (ทีโออาร์)
โดยที่ประชุมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา สามารถให้การส่งเสริมการลงทุนได้สำหรับการลงทุนอาคารผู้โดยสาร 3 ในประเภทกิจการสนามบินพาณิชย์ จึงได้อนุมัติหลักการให้การส่งเสริม โดยผู้ชนะสัมปทานจะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (ไม่เกินร้อยละ 100 ของเงินลงทุน ซึ่งไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) และหากดำเนินการเป็นไปตามเงื่อนไขภายใต้มาตรการอีอีซีของบีโอไอ จะได้รับลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก ร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 ปี
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้อนุมัติในหลักการแก่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าของสัมปทาน ดิจิทัล พาร์ค ไทยแลนด์ หรือเมืองใหม่ตามหลักของเมืองอัจฉริยะ Smart City ซึ่งเป็นโครงการรูปแบบเดียวกับท่าอากาศยานอู่ตะเภา คือต้องมีการประกาศ และระบุให้ชัดเจนในประกาศเชิญชวน (ทีโออาร์) ก่อนเข้าร่วมประมูล
โดยผู้ได้รับสัมปทานจะได้รับยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี (โดยไม่จำกัดวงเงินยกเว้นภาษี เนื่องจากเป็นกิจการเป้าหมายพิเศษ) และหากดำเนินการตามเงื่อนไขภายใต้มาตรการอีอีซีของบีโอไอ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเป็น 12 ปี
-------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th