การยกระดับการศึกษาเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์คือ กลไกการขับเคลื่อนการเติบโตของโลกยุคดิจิทัล

ข่าวทั่วไป Sunday November 18, 2018 14:51 —สำนักโฆษก

การยกระดับการศึกษาเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์คือ กลไกการขับเคลื่อนการเติบโตของโลกยุคดิจิทัล

วันนี้ (18 พฤศจิกายน 2561) เวลา 12.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ เอเปคเฮ้าส์ (APEC Haus) กรุงพอร์ตมอร์สบี รัฐเอกราชปาปัวนิวกินี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมหารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (Working Lunch) ในหัวข้อ “ส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ครอบคลุมในยุคดิจิทัล” (Promoting Inclusive Growth in the Digital Age) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับ การสร้างทักษะโดยใช้นวัตกรรมขับเคลื่อน (Innovation driven Skills Building) และความมั่นคงทางอาหารที่ครอบคลุมและยั่งยืน (Inclusivity and Sustainability Food Security) สรุปดังนี้

นายกรัฐมนตรีชื่นชมบทบาทนำของเอเปคในการขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อตอบสนองโอกาสและความท้าทายใหม่ๆที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยนายกรัฐมนตรีได้นำเสนอแนวคิดสำคัญ 2 ประการ เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าวได้แก่

ประการแรก การพัฒนาของเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะดิจิทัล ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างมีนัยสำคัญ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องส่งเสริมทักษะและยกระดับการศึกษาของประชาชนทุกเพศทุกวัยให้ตอบโจทย์ความท้าทายดังกล่าว

ทั้งนี้ ไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและการศึกษาภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยการปฏิรูประบบอาชีวศึกษาทวิภาคี ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะด้านอาชีพให้ตอบสนองกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมทั้งรัฐบาลยังเตรียมจัดตั้งกระทรวงการศึกษา วิจัย และนวัตกรรม เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ซึ่งเอเปคสามารถเข้ามีส่วนร่วมสนับสนุนพัฒนาหลักสูตรการศึกษาและทักษะ เพื่อยกระดับมาตรฐานในภูมิภาค

นายกรัฐมนตรียังเห็นว่า เอเปคควรหารืออย่างจริงจังเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์กับปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ เพื่อให้การใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเกิดประโยชน์สูงสุด ในขณะเดียวกันก็ร่วมกันหาแนวทางเพื่อลดผลกระทบของเทคโนโลยีต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม

ประการที่สอง ปัจจุบัน โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม นายกรัฐมนตรีกล่าวเสนอแนวคิด “โมเดลเศรษฐกิจ BCG” โดย B คือเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-Economy) C คือเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และ G คือเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและประมง ควบคู่ไปกับการลดของเสียให้น้อยที่สุดหรือเป็นศูนย์ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและใช้เทคโนโลยีที่สะอาดยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ไทยยังสนับสนุนการนำเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการขับเคลื่อนภาคเกษตรไปสู่เกษตรอัจฉริยะ โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า เอเปคจะเป็นแกนนำในการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และเร่งรัดดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายความมั่นคงด้านอาหารของเอเปคต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ