พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นประธานเปิดงานสัปดาห์ส่งเสริมศาสนาและจริยธรรมเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง "ศาสนธรรมนำไทย" และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่หน่วยงานที่จัดงานสัปดาห์ส่งเสริมศาสนาและจริยธรรมดีเด่น ประจำปี 2549
วันนี้ เวลา 09.30 น. ณ สโมสรทหารบก สี่เสาเทเวศร์ กรุงเทพฯ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นประธานเปิดงานสัปดาห์ส่งเสริมศาสนาและจริยธรรมเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง "ศาสนธรรมนำไทย" และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่หน่วยงานที่จัดงานสัปดาห์ส่งเสริมศาสนาและจริยธรรมดีเด่น ประจำปี 2549 ผู้ร่วมงานประกอบด้วย ตัวแทนผู้นำศาสนาทุกศาสนา ผู้แทนส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา ประมาณ 350 คน จัดโดย คณะอนุกรรมการส่งเสริมศาสนาและจริยธรรม ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการประสานและร่วมมือระหว่างทุกองค์กรศาสนา ในการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและส่งเสริมความมั่นคงของชาติ
พลเอก พงษ์เทพ เทศประทีป เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมศาสนาและจริยธรรม ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ได้กล่าวรายงานว่า คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติได้จัดสัปดาห์ส่งเสริมศาสนาและจริยธรรมขึ้นมาเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของศาสนา โดยคณะกรรมการฯ ได้น้อมนำพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกที่เกี่ยวกับศาสนาและจริยธรรมเป็นแนวทางในการจัดทำ "แผนทำนุบำรุงส่งเสริมศาสนาและจริยธรรมแห่งชาติ" เพื่อดำเนินการและรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับศาสนา สามารถนำศาสนธรรมไปใช้ในการดำรงชีวิตและในการปฏิบัติหน้าที่การงานให้มีประสิทธิภาพ และทำให้ศาสนาเป็นสถาบันหลักแห่งความมั่นคงของชาติตลอดไป
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้จัดโครงการส่งเสริมศาสนาและจริยธรรมเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2533 และอนุมัติหลักการให้จัดงานต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีในสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม หรือในวันเวลาที่เหมาะสม สำหรับปีนี้ อันเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา คณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมกับทุกภาคส่วน จัดงานขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อเฉลิมพระเกียรติแสดงความจงรักภักดี และเผยแพร่พระราชกรณียกิจ พระบรมราโชวาทด้านศาสนาควบคู่กับการรณรงค์พัฒนาจิตใจปลูกฝังส่งเสริมคุณธรรม ศีลธรรม และจริยธรรม ตามพระบรมราโชวาท เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของศาสนาและจริยธรรม
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดงานสัปดาห์ส่งเสริมศาสนาและจริยธรรม พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง "ศาสนธรรมนำไทย" ว่า ศาสนาทุกศาสนามีความสำคัญและมีความเหมือนกันทั้งในด้านการศึกษาและการปฏิบัติ โดยการศึกษาศาสนาจะต้องเน้นความรู้จริงที่รู้อย่างถูกต้อง และนำไปปฏิบัติให้เกิดผลตามความสามารถของแต่ละบุคคล เพื่อให้ชีวิตประจำวันของผู้ปฏิบัติเกิดความสุข ความเจริญทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว ผู้อื่น และองค์กร ที่นำไปสู่การเป็นสังคมธรรมาธิปไตย
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสังคมไทยในปัจจุบันว่า ยังมีความน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการกระทำที่ไม่อิงหลักการ ความถูกต้อง ความดีงาม หรือตั้งใจทำให้ผิดเพื่อหวังผลประโยชน์ หรือมอมเมาให้หลงผิด จึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมศาสนาและจริยธรรม หรือผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาอย่างแท้จริงได้ช่วยกันดำเนินการหรือมีส่วนร่วมแก้ไขการศึกษาและการปฏิบัติอย่างครบวงจร เพื่อให้ศาสนาใกล้ชิดกับคนและสังคม มีความเอื้ออาทร และอำนวยผลในด้านต่าง ๆ เพื่อทำให้กระบวนการศึกษาและการปฏิบัติมีความชัดเจนและครอบคลุมหลักการที่ว่า "ชี้นำความถูกต้อง ปกป้องศาสนา รักษาจารีต ประเพณี นำสู่วิถีภาคปฏิบัติ" รัฐบาลมีนโยบายที่จะดำรงและรักษาศาสนาเพื่อให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน ด้วยการทำนุบำรุงส่งเสริมศาสนาทุกศาสนา เผยแผ่หลักธรรมคำสอนของศาสนาไปสู่ศาสนิกชน รักษาและส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ รวมทั้งส่งเสริมเยาวชนให้มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นพลเมืองดีของชาติหากทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันจะทำให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จไปได้ในที่สุด
ที่ผ่านมาประเทศไทยเน้นการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจมากกว่าการส่งเสริมบทบาทของสถาบันศาสนา อย่างไรก็ตามการพัฒนาคนถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่จะต้องมีการพัฒนาให้เป็นคนที่มีคุณธรรม จริยธรรม ไม่เช่นนั้นสังคมจะไปไม่รอด และทำอย่างไรที่จะพัฒนาสังคมให้มีความเจริญในระดับปานกลางควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ
การพัฒนาคนให้มีคุณสมบัติทั้งด้านสติปัญญา คุณธรรม จริยธรรม เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมได้นั้น ถือเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องช่วยกันทำ ไม่เช่นนั้นสังคมของเราจะมีสภาพที่เสื่อมโทรมลง และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สังคมมีคนดีมากกว่าคนไม่ดี เพราะคนดีจะผลักดันให้เกิดความดีงามในสังคม เป็นการขยายพื้นที่สีขาวของสังคมให้กว้างขวางออกไปได้มากขึ้น
ทุกสังคมนอกจากมีกฎหมายไว้เป็นเครื่องมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยและผดุงความยุติธรรมแล้ว ยังจำเป็นต้องมีหลักศีลธรรมหรือจริยธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวคนให้อยู่ในสังคมด้วยกันอย่างมีความสุข แม้กฎหมายจะใช้กับผู้ที่ประพฤติผิด แต่ถ้าคนมีคุณธรรม มีจริยธรรม กฎหมายเกือบจะไม่มีความจำเป็น เพราะทุกคนรู้หน้าที่ รู้ว่าสิ่งใดผิดหรือถูก
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการศึกษาของไทยในอดีตว่า มีความผูกพันอยู่กับวัด พ่อแม่ผู้ปกครองจะสอนลูกหลานให้มุ่งในด้านศีลธรรมจรรยาเป็นหลัก สังคมไทยในอดีตจึงเป็นสังคมที่อยู่ได้ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ด้วยความรัก ด้วยความเคารพ มีความสามัคคี มีวินัย ผู้คนมีความตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมจริยธรรมเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2500 แผนการศึกษาของชาติได้เน้นการศึกษาด้านวิชาการเป็นหลัก ประกอบกับประชาชนต้องต่อสู้ดิ้นรนกับสภาวะทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวและมีการแข่งขันกันมากขึ้น สังคมจึงมีความเสื่อมเพราะคนส่วนใหญ่ไม่สนใจที่จะทำความดี ไม่ช่วยเหลือผู้อื่นและเห็นแก่ตัวมากยิ่งขึ้น จึงถึงเวลาแล้ว ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งฟื้นฟูศาสนา โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ควรมีเรื่องของศาสนาและจริยธรรมสอดแทรกอยู่ด้วย ผู้ใหญ่จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก ๆ ในการปฏิบัติศีลธรรม จริยธรรม ศาสนธรรมของทุกศาสนา เป็นบ่อเกิดแห่งศีลธรรมที่จะนำมาเป็นหลักจริยธรรมได้ ไม่ควรมีการตั้งหลักศีลธรรมขึ้นมาใหม่ และต้องส่งเสริมบทบาทของพระสงฆ์ หรือผู้สอนศาสนาอื่น ๆ ในการที่จะให้ความรู้แก่ประชาชนด้วย
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่หน่วยงานที่จัดงานสัปดาห์ส่งเสริมศาสนาและจริยธรรมดีเด่น ประจำปี 2549 จำนวน 10 หน่วยงาน คือ 1. โรงเรียนลาซาลจันทบุรี (มารดาพิทักษ์) จังหวัดจันทบุรี 2.โรงเรียนกำแพงดินพิทยาคม จังหวัดพิจิตร 3. โรงเรียนทุ่งโพธิ์พิทยา จังหวัดพิจิตร 4. โรงเรียนดงเสือเหลืองพิทยาคม จังหวัดพิจิตร 5.โรงเรียนพุทธบูชา กรุงเทพมหานคร 6. โรงเรียนสยามบริหารธุรกิจ (SBAC) กรุงเทพมหานคร 7.โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 8. โรงเรียนบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี 9.โรงเรียนวังสำโรงวังหว้า จังหวัดพิจิตร และ 10 สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--
วันนี้ เวลา 09.30 น. ณ สโมสรทหารบก สี่เสาเทเวศร์ กรุงเทพฯ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เป็นประธานเปิดงานสัปดาห์ส่งเสริมศาสนาและจริยธรรมเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง "ศาสนธรรมนำไทย" และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่หน่วยงานที่จัดงานสัปดาห์ส่งเสริมศาสนาและจริยธรรมดีเด่น ประจำปี 2549 ผู้ร่วมงานประกอบด้วย ตัวแทนผู้นำศาสนาทุกศาสนา ผู้แทนส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา ประมาณ 350 คน จัดโดย คณะอนุกรรมการส่งเสริมศาสนาและจริยธรรม ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการประสานและร่วมมือระหว่างทุกองค์กรศาสนา ในการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและส่งเสริมความมั่นคงของชาติ
พลเอก พงษ์เทพ เทศประทีป เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมศาสนาและจริยธรรม ในคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ได้กล่าวรายงานว่า คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติได้จัดสัปดาห์ส่งเสริมศาสนาและจริยธรรมขึ้นมาเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของศาสนา โดยคณะกรรมการฯ ได้น้อมนำพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกที่เกี่ยวกับศาสนาและจริยธรรมเป็นแนวทางในการจัดทำ "แผนทำนุบำรุงส่งเสริมศาสนาและจริยธรรมแห่งชาติ" เพื่อดำเนินการและรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับศาสนา สามารถนำศาสนธรรมไปใช้ในการดำรงชีวิตและในการปฏิบัติหน้าที่การงานให้มีประสิทธิภาพ และทำให้ศาสนาเป็นสถาบันหลักแห่งความมั่นคงของชาติตลอดไป
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้จัดโครงการส่งเสริมศาสนาและจริยธรรมเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2533 และอนุมัติหลักการให้จัดงานต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีในสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม หรือในวันเวลาที่เหมาะสม สำหรับปีนี้ อันเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา คณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมกับทุกภาคส่วน จัดงานขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อเฉลิมพระเกียรติแสดงความจงรักภักดี และเผยแพร่พระราชกรณียกิจ พระบรมราโชวาทด้านศาสนาควบคู่กับการรณรงค์พัฒนาจิตใจปลูกฝังส่งเสริมคุณธรรม ศีลธรรม และจริยธรรม ตามพระบรมราโชวาท เพื่อให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของศาสนาและจริยธรรม
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเปิดงานสัปดาห์ส่งเสริมศาสนาและจริยธรรม พร้อมบรรยายพิเศษ เรื่อง "ศาสนธรรมนำไทย" ว่า ศาสนาทุกศาสนามีความสำคัญและมีความเหมือนกันทั้งในด้านการศึกษาและการปฏิบัติ โดยการศึกษาศาสนาจะต้องเน้นความรู้จริงที่รู้อย่างถูกต้อง และนำไปปฏิบัติให้เกิดผลตามความสามารถของแต่ละบุคคล เพื่อให้ชีวิตประจำวันของผู้ปฏิบัติเกิดความสุข ความเจริญทั้งแก่ตนเอง ครอบครัว ผู้อื่น และองค์กร ที่นำไปสู่การเป็นสังคมธรรมาธิปไตย
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงสังคมไทยในปัจจุบันว่า ยังมีความน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการกระทำที่ไม่อิงหลักการ ความถูกต้อง ความดีงาม หรือตั้งใจทำให้ผิดเพื่อหวังผลประโยชน์ หรือมอมเมาให้หลงผิด จึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมศาสนาและจริยธรรม หรือผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในศาสนาอย่างแท้จริงได้ช่วยกันดำเนินการหรือมีส่วนร่วมแก้ไขการศึกษาและการปฏิบัติอย่างครบวงจร เพื่อให้ศาสนาใกล้ชิดกับคนและสังคม มีความเอื้ออาทร และอำนวยผลในด้านต่าง ๆ เพื่อทำให้กระบวนการศึกษาและการปฏิบัติมีความชัดเจนและครอบคลุมหลักการที่ว่า "ชี้นำความถูกต้อง ปกป้องศาสนา รักษาจารีต ประเพณี นำสู่วิถีภาคปฏิบัติ" รัฐบาลมีนโยบายที่จะดำรงและรักษาศาสนาเพื่อให้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน ด้วยการทำนุบำรุงส่งเสริมศาสนาทุกศาสนา เผยแผ่หลักธรรมคำสอนของศาสนาไปสู่ศาสนิกชน รักษาและส่งเสริมวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ รวมทั้งส่งเสริมเยาวชนให้มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นพลเมืองดีของชาติหากทุกฝ่ายช่วยกันผลักดันจะทำให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จไปได้ในที่สุด
ที่ผ่านมาประเทศไทยเน้นการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจมากกว่าการส่งเสริมบทบาทของสถาบันศาสนา อย่างไรก็ตามการพัฒนาคนถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพราะคนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่จะต้องมีการพัฒนาให้เป็นคนที่มีคุณธรรม จริยธรรม ไม่เช่นนั้นสังคมจะไปไม่รอด และทำอย่างไรที่จะพัฒนาสังคมให้มีความเจริญในระดับปานกลางควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ
การพัฒนาคนให้มีคุณสมบัติทั้งด้านสติปัญญา คุณธรรม จริยธรรม เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมได้นั้น ถือเป็นสิ่งที่ท้าทาย แต่เป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องช่วยกันทำ ไม่เช่นนั้นสังคมของเราจะมีสภาพที่เสื่อมโทรมลง และต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สังคมมีคนดีมากกว่าคนไม่ดี เพราะคนดีจะผลักดันให้เกิดความดีงามในสังคม เป็นการขยายพื้นที่สีขาวของสังคมให้กว้างขวางออกไปได้มากขึ้น
ทุกสังคมนอกจากมีกฎหมายไว้เป็นเครื่องมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยและผดุงความยุติธรรมแล้ว ยังจำเป็นต้องมีหลักศีลธรรมหรือจริยธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวคนให้อยู่ในสังคมด้วยกันอย่างมีความสุข แม้กฎหมายจะใช้กับผู้ที่ประพฤติผิด แต่ถ้าคนมีคุณธรรม มีจริยธรรม กฎหมายเกือบจะไม่มีความจำเป็น เพราะทุกคนรู้หน้าที่ รู้ว่าสิ่งใดผิดหรือถูก
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการศึกษาของไทยในอดีตว่า มีความผูกพันอยู่กับวัด พ่อแม่ผู้ปกครองจะสอนลูกหลานให้มุ่งในด้านศีลธรรมจรรยาเป็นหลัก สังคมไทยในอดีตจึงเป็นสังคมที่อยู่ได้ด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ด้วยความรัก ด้วยความเคารพ มีความสามัคคี มีวินัย ผู้คนมีความตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรมจริยธรรมเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2500 แผนการศึกษาของชาติได้เน้นการศึกษาด้านวิชาการเป็นหลัก ประกอบกับประชาชนต้องต่อสู้ดิ้นรนกับสภาวะทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวและมีการแข่งขันกันมากขึ้น สังคมจึงมีความเสื่อมเพราะคนส่วนใหญ่ไม่สนใจที่จะทำความดี ไม่ช่วยเหลือผู้อื่นและเห็นแก่ตัวมากยิ่งขึ้น จึงถึงเวลาแล้ว ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งฟื้นฟูศาสนา โดยเฉพาะการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ควรมีเรื่องของศาสนาและจริยธรรมสอดแทรกอยู่ด้วย ผู้ใหญ่จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก ๆ ในการปฏิบัติศีลธรรม จริยธรรม ศาสนธรรมของทุกศาสนา เป็นบ่อเกิดแห่งศีลธรรมที่จะนำมาเป็นหลักจริยธรรมได้ ไม่ควรมีการตั้งหลักศีลธรรมขึ้นมาใหม่ และต้องส่งเสริมบทบาทของพระสงฆ์ หรือผู้สอนศาสนาอื่น ๆ ในการที่จะให้ความรู้แก่ประชาชนด้วย
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่หน่วยงานที่จัดงานสัปดาห์ส่งเสริมศาสนาและจริยธรรมดีเด่น ประจำปี 2549 จำนวน 10 หน่วยงาน คือ 1. โรงเรียนลาซาลจันทบุรี (มารดาพิทักษ์) จังหวัดจันทบุรี 2.โรงเรียนกำแพงดินพิทยาคม จังหวัดพิจิตร 3. โรงเรียนทุ่งโพธิ์พิทยา จังหวัดพิจิตร 4. โรงเรียนดงเสือเหลืองพิทยาคม จังหวัดพิจิตร 5.โรงเรียนพุทธบูชา กรุงเทพมหานคร 6. โรงเรียนสยามบริหารธุรกิจ (SBAC) กรุงเทพมหานคร 7.โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 8. โรงเรียนบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี 9.โรงเรียนวังสำโรงวังหว้า จังหวัดพิจิตร และ 10 สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กรุงเทพมหานคร
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--