นายกรัฐมนตรีระบุการพิจารณากฎหมายต่าง ๆ อยู่ที่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรัฐบาลคงไม่ขอถอนกฎหมายความมั่นคงออกจากสภาฯ ส่วนการเลือกตั้งนั้นอยากให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเกินกว่า 70% และยอมรับการตัดสินใจของประชาชนไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร
วันนี้ เวลา 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์กรณีที่ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ชุมนุมเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยุติการพิจารณากฎหมายที่ยังคั่งค้างอยู่ และเรียกร้องให้ลาออก ว่า ในส่วนกฎหมายของรัฐบาลที่เสนอเข้าไปยัง สนช.นั้น รัฐบาลได้ประสานกับประธาน สนช.ว่าจะขอดำเนินการเฉพาะในส่วนที่มีความสำคัญกับรัฐบาลเท่านั้น ในส่วนอื่น ๆ จะเป็นเรื่องที่สมาชิก สนช. ได้เสนอกฎหมายเข้าไปพอสมควร ซึ่งทาง สนช. คงจะได้มีการคัดกรองเพื่อดำเนินการกันต่อไป
ส่วนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลเสนอเข้าไปสู่การพิจารณาแล้ว และถือว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลเห็นว่ามีความจำเป็น ต่อข้อถามว่าจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายดังกล่าวในรัฐบาลนี้เลยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยู่ที่ สนช. เพราะขณะนี้ผ่านพ้นขั้นตอนในส่วนของรัฐบาลไปแล้ว
ต่อข้อถามว่า แต่รัฐบาลมีสิทธิที่จะถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกมาก่อนได้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่ารัฐบาลเห็นว่าเป็น พ.ร.บ.ที่มีความจำเป็น ดังนั้น เราคงไม่ใช้สิทธิที่จะถอนออกมา
ส่วนที่มีกลุ่มเอ็นจีโอออกมาคัดค้าน จนถึงขั้นบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภานั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราสามารถทำความเข้าใจได้ ซึ่งได้ปรึกษากับกรรมาธิการที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวว่า ขอให้ทำความเข้าใจ และทำคำชี้แจงให้กับทุกฝ่ายได้ทราบ ไม่ว่าจะเป็นข้อห่วงใยเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การจะยกเว้นการตรวจสอบทางกฎหมายต่าง ๆ ซึ่ง สนช.ได้พิจารณาข้อกังวลเหล่านั้น และได้แก้ไขในส่วนที่สำคัญ คิดว่าถ้าไม่ได้ยึดในสิ่งที่เป็นความคิดของตัวเองมากเกินไป ก็จะสามารถรับฟังคำชี้แจงจากกรรมาธิการได้ ส่วนที่นายจอน อึ้งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน มาพบกับนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี เมื่อเช้านี้ (13 ธ.ค.) นั้น ยังไม่ทราบรายละเอียด
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้จัดลำดับความเร่งด่วนของกฎหมาย คงมีกฎหมายอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่อเนื่อง และกระทรวงต่าง ๆ ได้พิจารณา เรื่องที่ยังคั่งค้างอยู่ใน สนช. บางเรื่อง อาจจะมีความยุ่งยาก เช่น ร่าง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แต่ในขั้นนี้คงเป็นการดำเนินงานของ สนช. ทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน แถลงว่าเหตุการณ์ที่เอ็นจีโอบุกสภา เป็นการจงใจสกัดกั้นไม่ให้มีการเลือกตั้ง และไม่ต้องการให้นายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้พยายามรวบรวมข่าวสาร และได้สอบถามจากพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เมื่อเช้าที่ผ่านมา ทราบว่าทาง ผบ.ตร. กำลังรวบรวมข้อมูลและจะดำเนินการทางกฎหมายต่อไปกับผู้ที่อาจจะกระทำความผิด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนตัวเห็นว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่มีกระบวนการจ้องล้มการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลที่จะชี้ชัดลงไปได้ จึงไม่สามารถที่จะให้คำตอบได้ ทั้งนี้ ก็หวังเพียงอยากให้มีการเลือกตั้งเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่โพลหลายสำนักระบุว่าพรรคพลังประชาชนจะชนะการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เคยพูดไว้นานแล้วว่าเคารพการตัดสินใจของประชาชนคนไทยไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ส่วนผลสำรวจขณะนี้ก็เป็นเพียงผลสำรวจ คงจะต้องรอผลการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม ซึ่งมีความปรารถนาเพียงอย่างเดียวคือต้องการให้ประชาชนคนไทยออกมาใช้สิทธิให้มาก และตั้งความหวังไว้ว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิประมาณร้อยละ 70 แต่ถ้ามีผู้มาใช้สิทธิมากกว่านั้นก็จะเป็นสิ่งที่ดี
ต่อข้อถามว่า มีปัจจัยอะไรหรือไม่ที่จะทำให้มีประชาชนออกมาใช้สิทธิไม่ถึงร้อยละ 70 นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนต้องรอให้ถึงวันเลือกตั้ง แต่เท่าที่ได้พูดคุยกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด วันนี้ยังมีตัวเลขผู้ที่จะออกมาใช้สิทธิใกล้เคียงร้อยละ 70 ส่วนในกรุงเทพมหานคร คิดว่าน่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิมากกว่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าประชาชนออกมาใช้สิทธิไม่ถึงร้อยละ 70 จะเป็นการชี้วัดอะไรหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ได้เป็นการชี้วัด เพียงแต่ถ้าประชาชนออกมาใช้สิทธิมากก็จะเป็นส่วนสำคัญที่เราจะยอมรับได้ว่าเป็นการตัดสินใจจากประชาชนโดยแท้จริง แต่ถ้ามีผู้มาใช้สิทธิน้อยกว่าร้อยละ 70 เราก็ต้องยอมรับความจริง เพราะแม้จะตั้งความหวังไว้ก็อาจผิดหวังได้ จึงต้องช่วยกันรณรงค์
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะกลายเป็นข้ออ้างที่จะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งหรือไม่ หากมีคนออกมาใช้สิทธิไม่ถึงร้อยละ 70 นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงไม่มีมาตรฐานตรงนี้ เพราะไม่มีตำรารัฐศาสตร์ที่ไหนเขียนไว้ว่ามีการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกี่เปอร์เซ็นต์แล้วจะไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และหากมีการทุจริต คอรัปชั่น ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)
ต่อข้อถามว่า คิดว่าเป็นเพราะอะไรที่คนไทยถึงยังรักและชอบพรรคพลังประชาชน ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ได้คิดอะไร เพราะถือเป็นสิทธิของแต่ละบุคคลว่าจะรักหรือชอบใคร คงไม่ไปก้าวล่วงในเรื่องนี้ ส่วนความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ ที่ออกมาในช่วงนี้นั้นก็เป็นเรื่องที่ กกต.จะต้องดูแล หากมีสิ่งใดที่เป็นการละเมิดกฎหมายเลือกตั้งก็เป็นเรื่องของ กกต. อย่างที่ได้เรียนแล้วว่า รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของ กกต. ซึ่งรัฐบาลพยายามทำงานในหน้าที่ของรัฐบาล
ต่อข้อถามว่า มองอย่างไรที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเข้ามาปฏิวัติ พ.ต.ท.ทักษิณฯ แต่ท้ายที่สุดประชาชนก็ยังเลือกพรรคพลังประชาชน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือเป็นสิทธิ อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่าความรักความชอบเป็นเรื่องภายในใจ ตนเองรักใครก็มีเหตุผลของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจะไปอธิบายว่าทำไมไม่รักคนอื่นคงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่แต่ละคนมีมุมมองที่ไม่เหมือนกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าหลังการเลือกตั้งบ้านเมืองจะเกิดความสงบจริงหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยู่ที่คนไทย อย่างที่เรียนแล้วว่าตนเองไม่ค่อยได้มองในแง่ร้าย เพราะคิดว่าถ้าพวกเราช่วยกันแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองก็จะผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤติไปได้ แต่ถ้าเรามองในแง่ร้าย และไม่คิดที่จะร่วมมือร่วมใจกันแก้ไข ปัญหาก็จะเกิดขึ้นตลอดเวลา และจะเป็นข้อเสียสำหรับบ้านเมืองที่เกิดความไม่สามัคคีและแตกแยก
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลเตรียมแผนรองรับอะไรหรือไม่หากหลังเลือกตั้งจะเกิดความวุ่นวาย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้เท่าที่ดูความเป็นไปได้ คิดว่าไม่น่าจะมีความรุนแรงหรือความวุ่นวายเกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง
ต่อข้อถามว่า ร.ต.ท.เชาวรินทร์ ลัทธศักดิ์ศิริ ผู้สมัคร ส.ส. สัดส่วนพรรคพลังประชาชนออกมาระบุว่าหากมีการยุบพรรคพลังประชาชนจริงบ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ผู้กล่าวมองภาพในแง่ร้ายเกินไป ซึ่งเชื่อว่า กกต.จะพิจารณาอย่างรอบคอบ ในฐานะที่เป็นข้าราชการตุลาการมากก่อนเป็นส่วนใหญ่ ท่านก็จะมีวิจารณญาณของตนเอง
ต่อข้อถามว่า หลายฝ่ายมองว่าจะยุบหรือไม่ยุบพรรคก็จะมีความวุ่นวายเกิดขึ้นหากพรรคพลังประชาชนเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยู่ที่ประชาชนเมื่อประชาชนเป็นผู้ลงคะแนนการเลือกตั้ง ก็อยู่ที่ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน ถ้าเรามองและช่วยกันแก้ไข คิดว่าเราสามารถที่จะผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ ไปได้ แต่ถ้าเรามองแล้วปล่อยไปเฉยๆ ก็ไม่เกิดอะไร ผลสุดท้ายความแตกแยกก็ยังอยู่ เหมือนกับการไม่สบาย ถ้าเราไม่รักษาอาการก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ก็เช่นเดียวกับบ้านเมืองถ้าเราไม่รักษาหรือช่วยกันตั้งแต่เบื้องต้น จะห้ามเลือดหรือไม่ให้เลือดไหล แล้วค่อยพาไปพบหมอเย็บแผลก็ทำในขั้นตอนต่อไป แต่ถ้าไม่เริ่มทำอะไรเลย ปล่อยให้เลือดไหลก็ไหลไปพอถึงหมอก็คงไม่ทัน
ต่อข้อถามว่า เป็นเพราะรัฐบาลไม่ดูแลกลุ่มรากหญ้าอย่างเต็มที่ใช่หรือไม่ จึงเป็นเหตุทำให้ประชาชนยังรักกลุ่มอำนาจเก่าอยู่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้การดูแลกลุ่มรากหญ้าอย่างเต็มขีดความสามารถที่เราจะดำเนินการได้ แต่เราไม่ใช้วิธีนำเงินลงไปแจกจ่ายและทำให้เกิดปัญหาในการบริหารงานของชาติ ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้แก้ไขปัญหาในหลายเรื่อง เช่น การรับจำนำข้าวก็มีหนี้มากมาย การรับจำนำลำไยก็มีปัญหา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ได้แก้ไขจนลุล่วงไปแล้ว การแก้ไขในระดับหมู่บ้านก็มีโครงการอยู่ดีมีสุข ซึ่งมีวิธีการที่แตกต่างไปจากกองทุนหมู่บ้าน เพราะชาวบ้านต้องมีโครงการ จึงจะนำเงินจากโครงการอยู่ดีมีสุขนี้ไปดำเนินการได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของตัวบุคคล เพราะฉะนั้น วิธีการบริหารจัดการคนละวิธี แต่ลงไปสู่ระดับพื้นฐานในชนบทเช่นเดียวกัน บางโครงการที่รัฐบาลที่แล้วทำไว้ดี คือ โครงการ OTOP สิ่งที่ดีรัฐบาลก็ดำเนินการต่อ สิ่งใดที่มีข้อบกพร่องก็ต้องปรับปรุงแก้ไข นั่นเป็นส่วนที่รัฐบาลได้ทำ การบอกว่ารัฐบาลไม่ได้ดูแลรากหญ้า คิดว่าไม่ให้ความเป็นธรรมกับตนเองมากนัก
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลประกาศนโยบายที่จะสร้างความสมานฉันท์ความสามัคคี และลดความแตกแยกในสังคมให้เกิดขึ้น จนถึงวันนี้ถือว่าสำเร็จหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็มีความสำเร็จในส่วนหนึ่ง ถ้าเราร่วมมือกันช่วยกันแก้ไขปัญหา ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ความแตกแยกลดลง แน่นอนว่าไม่สามารถที่จะทำได้สำเร็จในระยะเวลาสั้นๆ คงต้องใช้เวลาที่จะสร้างความสามัคคีขึ้นมาในบ้านเมืองของเรา ในสถานการณ์ทางภาคใต้เราก็ได้รับความสำเร็จส่วนหนึ่ง ได้รับความร่วมมือจากประชาชนมากขึ้น
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--
วันนี้ เวลา 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์กรณีที่ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ชุมนุมเรียกร้องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยุติการพิจารณากฎหมายที่ยังคั่งค้างอยู่ และเรียกร้องให้ลาออก ว่า ในส่วนกฎหมายของรัฐบาลที่เสนอเข้าไปยัง สนช.นั้น รัฐบาลได้ประสานกับประธาน สนช.ว่าจะขอดำเนินการเฉพาะในส่วนที่มีความสำคัญกับรัฐบาลเท่านั้น ในส่วนอื่น ๆ จะเป็นเรื่องที่สมาชิก สนช. ได้เสนอกฎหมายเข้าไปพอสมควร ซึ่งทาง สนช. คงจะได้มีการคัดกรองเพื่อดำเนินการกันต่อไป
ส่วนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลเสนอเข้าไปสู่การพิจารณาแล้ว และถือว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลเห็นว่ามีความจำเป็น ต่อข้อถามว่าจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายดังกล่าวในรัฐบาลนี้เลยหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยู่ที่ สนช. เพราะขณะนี้ผ่านพ้นขั้นตอนในส่วนของรัฐบาลไปแล้ว
ต่อข้อถามว่า แต่รัฐบาลมีสิทธิที่จะถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกมาก่อนได้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่ารัฐบาลเห็นว่าเป็น พ.ร.บ.ที่มีความจำเป็น ดังนั้น เราคงไม่ใช้สิทธิที่จะถอนออกมา
ส่วนที่มีกลุ่มเอ็นจีโอออกมาคัดค้าน จนถึงขั้นบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภานั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราสามารถทำความเข้าใจได้ ซึ่งได้ปรึกษากับกรรมาธิการที่พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวว่า ขอให้ทำความเข้าใจ และทำคำชี้แจงให้กับทุกฝ่ายได้ทราบ ไม่ว่าจะเป็นข้อห่วงใยเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน การจะยกเว้นการตรวจสอบทางกฎหมายต่าง ๆ ซึ่ง สนช.ได้พิจารณาข้อกังวลเหล่านั้น และได้แก้ไขในส่วนที่สำคัญ คิดว่าถ้าไม่ได้ยึดในสิ่งที่เป็นความคิดของตัวเองมากเกินไป ก็จะสามารถรับฟังคำชี้แจงจากกรรมาธิการได้ ส่วนที่นายจอน อึ้งภากรณ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน มาพบกับนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี เมื่อเช้านี้ (13 ธ.ค.) นั้น ยังไม่ทราบรายละเอียด
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้จัดลำดับความเร่งด่วนของกฎหมาย คงมีกฎหมายอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต่อเนื่อง และกระทรวงต่าง ๆ ได้พิจารณา เรื่องที่ยังคั่งค้างอยู่ใน สนช. บางเรื่อง อาจจะมีความยุ่งยาก เช่น ร่าง พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แต่ในขั้นนี้คงเป็นการดำเนินงานของ สนช. ทั้งหมด
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน แถลงว่าเหตุการณ์ที่เอ็นจีโอบุกสภา เป็นการจงใจสกัดกั้นไม่ให้มีการเลือกตั้ง และไม่ต้องการให้นายสมัครเป็นนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้พยายามรวบรวมข่าวสาร และได้สอบถามจากพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เมื่อเช้าที่ผ่านมา ทราบว่าทาง ผบ.ตร. กำลังรวบรวมข้อมูลและจะดำเนินการทางกฎหมายต่อไปกับผู้ที่อาจจะกระทำความผิด
ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนตัวเห็นว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่มีกระบวนการจ้องล้มการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลที่จะชี้ชัดลงไปได้ จึงไม่สามารถที่จะให้คำตอบได้ ทั้งนี้ ก็หวังเพียงอยากให้มีการเลือกตั้งเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่โพลหลายสำนักระบุว่าพรรคพลังประชาชนจะชนะการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เคยพูดไว้นานแล้วว่าเคารพการตัดสินใจของประชาชนคนไทยไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ส่วนผลสำรวจขณะนี้ก็เป็นเพียงผลสำรวจ คงจะต้องรอผลการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม ซึ่งมีความปรารถนาเพียงอย่างเดียวคือต้องการให้ประชาชนคนไทยออกมาใช้สิทธิให้มาก และตั้งความหวังไว้ว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิประมาณร้อยละ 70 แต่ถ้ามีผู้มาใช้สิทธิมากกว่านั้นก็จะเป็นสิ่งที่ดี
ต่อข้อถามว่า มีปัจจัยอะไรหรือไม่ที่จะทำให้มีประชาชนออกมาใช้สิทธิไม่ถึงร้อยละ 70 นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนต้องรอให้ถึงวันเลือกตั้ง แต่เท่าที่ได้พูดคุยกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด วันนี้ยังมีตัวเลขผู้ที่จะออกมาใช้สิทธิใกล้เคียงร้อยละ 70 ส่วนในกรุงเทพมหานคร คิดว่าน่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิมากกว่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าประชาชนออกมาใช้สิทธิไม่ถึงร้อยละ 70 จะเป็นการชี้วัดอะไรหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ได้เป็นการชี้วัด เพียงแต่ถ้าประชาชนออกมาใช้สิทธิมากก็จะเป็นส่วนสำคัญที่เราจะยอมรับได้ว่าเป็นการตัดสินใจจากประชาชนโดยแท้จริง แต่ถ้ามีผู้มาใช้สิทธิน้อยกว่าร้อยละ 70 เราก็ต้องยอมรับความจริง เพราะแม้จะตั้งความหวังไว้ก็อาจผิดหวังได้ จึงต้องช่วยกันรณรงค์
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะกลายเป็นข้ออ้างที่จะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งหรือไม่ หากมีคนออกมาใช้สิทธิไม่ถึงร้อยละ 70 นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงไม่มีมาตรฐานตรงนี้ เพราะไม่มีตำรารัฐศาสตร์ที่ไหนเขียนไว้ว่ามีการออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งกี่เปอร์เซ็นต์แล้วจะไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และหากมีการทุจริต คอรัปชั่น ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)
ต่อข้อถามว่า คิดว่าเป็นเพราะอะไรที่คนไทยถึงยังรักและชอบพรรคพลังประชาชน ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ได้คิดอะไร เพราะถือเป็นสิทธิของแต่ละบุคคลว่าจะรักหรือชอบใคร คงไม่ไปก้าวล่วงในเรื่องนี้ ส่วนความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ ที่ออกมาในช่วงนี้นั้นก็เป็นเรื่องที่ กกต.จะต้องดูแล หากมีสิ่งใดที่เป็นการละเมิดกฎหมายเลือกตั้งก็เป็นเรื่องของ กกต. อย่างที่ได้เรียนแล้วว่า รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานของ กกต. ซึ่งรัฐบาลพยายามทำงานในหน้าที่ของรัฐบาล
ต่อข้อถามว่า มองอย่างไรที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติเข้ามาปฏิวัติ พ.ต.ท.ทักษิณฯ แต่ท้ายที่สุดประชาชนก็ยังเลือกพรรคพลังประชาชน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ถือเป็นสิทธิ อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่าความรักความชอบเป็นเรื่องภายในใจ ตนเองรักใครก็มีเหตุผลของตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจะไปอธิบายว่าทำไมไม่รักคนอื่นคงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องที่แต่ละคนมีมุมมองที่ไม่เหมือนกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าหลังการเลือกตั้งบ้านเมืองจะเกิดความสงบจริงหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยู่ที่คนไทย อย่างที่เรียนแล้วว่าตนเองไม่ค่อยได้มองในแง่ร้าย เพราะคิดว่าถ้าพวกเราช่วยกันแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองก็จะผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤติไปได้ แต่ถ้าเรามองในแง่ร้าย และไม่คิดที่จะร่วมมือร่วมใจกันแก้ไข ปัญหาก็จะเกิดขึ้นตลอดเวลา และจะเป็นข้อเสียสำหรับบ้านเมืองที่เกิดความไม่สามัคคีและแตกแยก
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลเตรียมแผนรองรับอะไรหรือไม่หากหลังเลือกตั้งจะเกิดความวุ่นวาย นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้เท่าที่ดูความเป็นไปได้ คิดว่าไม่น่าจะมีความรุนแรงหรือความวุ่นวายเกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง
ต่อข้อถามว่า ร.ต.ท.เชาวรินทร์ ลัทธศักดิ์ศิริ ผู้สมัคร ส.ส. สัดส่วนพรรคพลังประชาชนออกมาระบุว่าหากมีการยุบพรรคพลังประชาชนจริงบ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ผู้กล่าวมองภาพในแง่ร้ายเกินไป ซึ่งเชื่อว่า กกต.จะพิจารณาอย่างรอบคอบ ในฐานะที่เป็นข้าราชการตุลาการมากก่อนเป็นส่วนใหญ่ ท่านก็จะมีวิจารณญาณของตนเอง
ต่อข้อถามว่า หลายฝ่ายมองว่าจะยุบหรือไม่ยุบพรรคก็จะมีความวุ่นวายเกิดขึ้นหากพรรคพลังประชาชนเข้ามาจัดตั้งรัฐบาล นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยู่ที่ประชาชนเมื่อประชาชนเป็นผู้ลงคะแนนการเลือกตั้ง ก็อยู่ที่ประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน ถ้าเรามองและช่วยกันแก้ไข คิดว่าเราสามารถที่จะผ่านพ้นวิกฤติต่าง ๆ ไปได้ แต่ถ้าเรามองแล้วปล่อยไปเฉยๆ ก็ไม่เกิดอะไร ผลสุดท้ายความแตกแยกก็ยังอยู่ เหมือนกับการไม่สบาย ถ้าเราไม่รักษาอาการก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ก็เช่นเดียวกับบ้านเมืองถ้าเราไม่รักษาหรือช่วยกันตั้งแต่เบื้องต้น จะห้ามเลือดหรือไม่ให้เลือดไหล แล้วค่อยพาไปพบหมอเย็บแผลก็ทำในขั้นตอนต่อไป แต่ถ้าไม่เริ่มทำอะไรเลย ปล่อยให้เลือดไหลก็ไหลไปพอถึงหมอก็คงไม่ทัน
ต่อข้อถามว่า เป็นเพราะรัฐบาลไม่ดูแลกลุ่มรากหญ้าอย่างเต็มที่ใช่หรือไม่ จึงเป็นเหตุทำให้ประชาชนยังรักกลุ่มอำนาจเก่าอยู่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้การดูแลกลุ่มรากหญ้าอย่างเต็มขีดความสามารถที่เราจะดำเนินการได้ แต่เราไม่ใช้วิธีนำเงินลงไปแจกจ่ายและทำให้เกิดปัญหาในการบริหารงานของชาติ ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้แก้ไขปัญหาในหลายเรื่อง เช่น การรับจำนำข้าวก็มีหนี้มากมาย การรับจำนำลำไยก็มีปัญหา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้ได้แก้ไขจนลุล่วงไปแล้ว การแก้ไขในระดับหมู่บ้านก็มีโครงการอยู่ดีมีสุข ซึ่งมีวิธีการที่แตกต่างไปจากกองทุนหมู่บ้าน เพราะชาวบ้านต้องมีโครงการ จึงจะนำเงินจากโครงการอยู่ดีมีสุขนี้ไปดำเนินการได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องของตัวบุคคล เพราะฉะนั้น วิธีการบริหารจัดการคนละวิธี แต่ลงไปสู่ระดับพื้นฐานในชนบทเช่นเดียวกัน บางโครงการที่รัฐบาลที่แล้วทำไว้ดี คือ โครงการ OTOP สิ่งที่ดีรัฐบาลก็ดำเนินการต่อ สิ่งใดที่มีข้อบกพร่องก็ต้องปรับปรุงแก้ไข นั่นเป็นส่วนที่รัฐบาลได้ทำ การบอกว่ารัฐบาลไม่ได้ดูแลรากหญ้า คิดว่าไม่ให้ความเป็นธรรมกับตนเองมากนัก
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลประกาศนโยบายที่จะสร้างความสมานฉันท์ความสามัคคี และลดความแตกแยกในสังคมให้เกิดขึ้น จนถึงวันนี้ถือว่าสำเร็จหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็มีความสำเร็จในส่วนหนึ่ง ถ้าเราร่วมมือกันช่วยกันแก้ไขปัญหา ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ความแตกแยกลดลง แน่นอนว่าไม่สามารถที่จะทำได้สำเร็จในระยะเวลาสั้นๆ คงต้องใช้เวลาที่จะสร้างความสามัคคีขึ้นมาในบ้านเมืองของเรา ในสถานการณ์ทางภาคใต้เราก็ได้รับความสำเร็จส่วนหนึ่ง ได้รับความร่วมมือจากประชาชนมากขึ้น
--กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก--