วันนี้ (15 พฤษภาคม 2562) เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 2/2562 เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินนโยบายรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมทั้งติดตามการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการฯ เข้าร่วมประชุม สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ที่ประชุมมีมติรับทราบความคืบหน้าในการดำเนินการยุบเลิกหรือถอดถอนบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจจำนวนที่มีการดำเนินการไม่สอดคล้องกับภารกิจของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 43 แห่ง และให้กระทรวงเจ้าสังกัดรายงานผลความคืบหน้าให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจทราบ และให้รัฐวิสาหกิจเร่งแก้ไขปัญหาบริษัทในเครือที่มีผลขาดทุนด้วย นอกจากนี้ ยังมีมติเห็นชอบในหลักการจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของ รฟท. เพื่อให้การบริหารจัดการทรัพย์สินของ รฟท. มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการบริหารจัดการที่ดินให้เกิดมูลค่าสูงสุดในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยทำให้ รฟท. มีรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถสดภาระหนี้สิน รวมทั้งเห็นชอบการเพิ่มพันธกิจให้แก่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ให้เป็นผู้เดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีแดงด้วย เพื่อที่สามารถใช้ทรัพยากรและบุคลากรของ รฟฟท. ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีกำชับในที่ประชุมว่า จะต้องเร่งเดินหน้าแก้ไขบริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจ ให้สอดคล้องกับภารกิจหลักของรัฐวิสาหกิจอย่างแท้จริง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งลดต้นทุนและความสามารถในการแข่งขันทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งรัฐวิสาหกิจเองก็ต้องบูรณาการ เพิ่มความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานด้วย
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังพิจารณาและรับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ. ทีโอที) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท) โดยเห็นชอบในหลักการควบรวมกิจการของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ. ทีโอที) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท) เป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด และมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนำเสนอรายละเอียดและแผนการดำเนินการให้ ครม. พิจารณา องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รายงานความคืบหน้าตามแผนการแก้ไขปัญหาองค์กร การปรับโครงสร้างบุคลากรใหม่ การพัฒนาระบบการจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ การปรับระบบเชื้อเพลิง ทั้งระบบดีเซล ไฮบริด และการนำน้ำมัน B20 มาใช้เพื่อลดมลพิษในกรุงเทพมหานคร เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ โดยมีเป้าหมาย EBITDA เป็นบวกได้ในปี 2566 ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมและ ขสมก. นำเสนอแผนฟื้นฟูกิจการรวมทั้งข้อสังเกตของคณะกรรมการ ให้ ครม. พิจารณา การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รายงานความคืบหน้าการพัฒนาทางคู่ ทางสายใหม่ รถไฟความเร็วสูง สถานีกลางบางซื่อ และรถไฟฟ้าสายสีแดง รวมทั้งเรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สิน และการจัดการด้านบุคลากร ทั้งนี้ ที่ประชุมได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. เร่งจัดทำข้อมูลที่ดินให้ครบถ้วนและพัฒนาการบริหารจัดการที่ดินให้สร้างมูลค่าโดยเร็ว และให้มีคณะทำงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยกำกับดูแลในการดำเนินการทั้งหมด บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) รายงานแผนพัฒนาการให้บริการ ระบบการขาย การหารายได้เสริม การจัดหาฝูงบินและโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงที่อู่ตะเภา
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า การดำเนินการแผนฟื้นฟูของรัฐวิสาหกิจ ต้องอยู่บนความตั้งใจจริงของตัวหน่วยงานว่าต้องการปรับเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ซึ่งผู้บริหารจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับบุคลากร หากมีการปรับโครงสร้างหรือการใช้เทคโนโลยีมาใช้ เช่น ระบบ e-ticket ของ ขสมก. ก็ขอให้ดูแลพนักงานเก็บค่าโดยสาร มีการเพิ่มทักษะให้ทำงานต่อไปได้ นายกรัฐมนตรียังย้ำว่า หากได้ยินว่ามีการแสวงหาผลประโยชน์จากแผนฟื้นฟูหรือการดำเนินนโยบายรัฐวิสาหกิจ จะไม่ยอมทนและสั่งให้มีการดำเนินการอย่างเด็ดขาด
-------------------------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th