พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ ส.ส. ลงพื้นที่รับฟังปัญหาประมงที่ จ.ตราด เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 62 โดยเสนอให้แก้ไข พ.ร.ก.ประมง มาตรา 34 69 81 ว่า สังคมไทยจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าการแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายบางมาตรานั้นจะเป็นผลดีหรือส่งเสริมการทำลายล้างทรัพยากรทางทะเล ฝ่าฝืนมาตรฐานแรงงาน และเปิดช่องให้มีการค้ามนุษย์เหมือนในอดีตกันแน่
“การลงพื้นที่หรือหาประโยชน์ทางการเมืองนอกสภานั้น อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของทรัพยากรและเศรษฐกิจการประมงของชาติโดยไม่รู้ตัว หากศึกษาข้อกฎหมายอย่างแท้จริงจะพบว่า ถ้ายกเลิกมาตรา 81 จะทำให้การประมงกลับไปไร้การควบคุมเหมือนที่ผ่านมา ถ้าไม่มีอุปกรณ์ VMS ก็จะไม่รู้ว่าเรือประมงลำใดออกนอกน่านน้ำหรือไปทำประมงผิดกฎหมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นกติกาสากล”
นอกจากนี้ การเขียน Logbook ก็มีไว้เพื่อใช้พิสูจน์แหล่งที่มาของสินค้าประมง และยังนำข้อมูลไปจัดสรรวันทำประมงได้ ส่วนการที่เรือประมงต้องแจ้งศูนย์ PIPO นั้น จะช่วยตรวจสอบให้แรงงานเข้าออกอย่างถูกต้อง
สำหรับมาตรา 69 ที่ห้ามจับปลากะตักในเวลากลางคืน ก็เพื่อรักษาปริมาณปลากะตักให้เหมาะสม มีปลาเหลือให้ลูกหลาน เพราะกลางคืนปลากะตักจะรวมเป็นฝูงขนาดใหญ่ หากจับในเวลานี้จำนวนปลาจะลดลงเร็วขึ้น
ส่วนมาตรา 34 ที่ห้ามชาวประมงพื้นบ้านที่ได้รับอนุญาตแล้วออกไปทำประมงนอกชายฝั่ง ขณะนี้ยังไม่มีการบังคับใช้ ชาวประมงพื้นบ้านยังออกไปทำประมงได้ตามปกติ และภาครัฐกับชาวประมงพื้นบ้านกำลังทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th