นายกรัฐมนตรีเชิญชวนทุกคนร่วมแรงร่วมใจวางรากฐานประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง เพื่อความยั่งยืนในทุกมิติ

ข่าวทั่วไป Saturday June 22, 2019 15:12 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีเชิญชวนทุกคนร่วมแรงร่วมใจวางรากฐานประชาคมอาเซียนที่เข้มแข็ง เพื่อความยั่งยืนในทุกมิติ

วันนี้ (23 มิถุนายน 2562) เวลา 09.00 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานและกล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ณ ห้อง Crystal Hall โรงแรมดิ แอทธินี กรุงเทพฯ ภายหลังเสร็จสิ้น พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีต้อนรับทุกคนสู่บ้านเกิดของอาเซียน พร้อมกล่าวว่าเนื้อร้องจากเพลง The ASEAN Way “We dare to dream, we care to share” เรากล้าฝัน เรายินดีแบ่งปัน สามารถสะท้อนเส้นทางตลอด 5 ทศวรรษของอาเซียนได้ดีที่สุด เมื่อ 52 ปีที่แล้วอาเซียนได้ถือกำเนิดขึ้น พัฒนาจากสมาคมเล็กๆ สู่ประชาคมที่เหนียวแน่นของ 10 ประเทศที่เป็นปึกแผ่น มีสันติภาพและมั่นคง มีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 6 ของโลก และมีความร่วมมือที่ครอบคลุมทุกสาขาเพื่อประชาชนอาเซียนทุกคน

วันนี้ผู้นำอาเซียนร่วมกันประกาศการเปิดตัวคลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือทางไกลของอาเซียนภายใต้โครงการจัดตั้งระบบโลจิสติกส์ฉุกเฉินสำหรับใช้ในกรณีเกิดภัยพิบัติของอาเซียน (DELSA) และการยกระดับศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของอาเซียนในการบริหารจัดการผลกระทบจากภัยพิบัติธรรมชาติ

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าความเข้มแข็งและเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จะช่วยให้อาเซียนก้าวผ่านทุกความท้าทายในปัจจุบัน และสามารถวางรากฐานที่มั่นคงให้กับอนุชนรุ่นหลังได้ พร้อมย้ำแนวคิดหลักของการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทย “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ด้วยความฝันที่จะให้อาเซียนเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคตเพื่อให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีสันติภาพ เสถียรภาพ และความรุ่งเรืองต่อไปอย่างยั่งยืน

ประการแรก ร่วมมือ ร่วมใจ (Partnership) เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล การเงิน กฎระเบียบ และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน เพื่อก้าวไปสู่อาเซียนที่ไร้รอยต่อ ประการที่สอง ก้าวไกล (Advancing) โดยใช้ประโยชน์จากยุค 4.0 สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างภูมิคุ้มกันจากเทคโนโลยีก้าวกระโดด เพื่อมุ่งไปสู่ดิจิทัลอาเซียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประการสุดท้าย ความยั่งยืน (Sustainability) คือ ความยั่งยืนในทุกมิติ หรือเอสโอที (Sustainability of Things) ตั้งแต่ด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเป็นเกราะให้กับประชาชนของอาเซียนต่อความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคและของโลก

นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่นที่จะสานต่อข้อริเริ่มของประธานอาเซียนในปีที่ผ่าน ๆ มา และขับเคลื่อนการดำเนินงานใน 3มิติสำคัญ คือ 1) มั่นคงขึ้น สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ดีขึ้น ทั้งใน มิติความมั่นคงทางไซเบอร์ มิติอาชญากรรมข้ามชาติ และการมีภูมิคุ้มกันที่จะรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ 2) มั่งคั่งขึ้น โดยผลักดันให้การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ อาร์เซ็ป (RCEP) แล้วเสร็จในปีนี้ ซึ่งจะทำให้อาร์เซ็ปเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ช่วยรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียนในอนาคต และการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนที่จะช่วยเพิ่ม GDP ของอาเซียนอีก 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025 สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ MSMEs ภาคเกษตร แรงงานมีทักษะ โดยใช้ประโยชน์จากอีอีซี (EEC) และการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงต่างๆ ทั้งในแอคเมคส์ (ACMECS) ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และอินโด-แปซิฟิก 3) ยั่งยืนขึ้น อาเซียนจะขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะจัดตั้งขึ้นในไทยเป็นกลไกสำคัญ ในมิติความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย มิติความยั่งยืนของความสัมพันธ์ระดับประชาชนโดยแลกเปลี่ยนเรียนรู้อัตลักษณ์และวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน มิติสิ่งแวดล้อมโดยจัดทำกรอบปฏิบัติงานด้านขยะทะเลฉบับแรกและส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน และมิติของการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนด้วยเครือข่ายเมืองอัจฉริยะ

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเชิญชวนให้ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันวางรากฐานประชาคมอาเซียน มุ่งไปสู่การเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคต โดยคำนึงถึงความยั่งยืนในทุกมิติโดยแท้จริง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ