ถ้อยแถลงของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการแถลงข่าวผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34
คำกล่าวถ้อยแถลงของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34
วันที่ 23 มิถุนายน 2562
ณ ห้อง Crystal Hall โรงแรมดิ แอทธินี กรุงเทพฯ
I am honoured that Thailand is the Chair of ASEAN and host of the Thirty-Fourth ASEAN Summit and other meetings. I am pleased to have had good discussions with other ASEAN Leaders. Now, allow me to speak in Thai.
การพบหารือกับผู้นำอาเซียนและการหารือกับผู้แทนสมัชชารัฐสภาอาเซียน ผู้แทนเยาวชนอาเซียน และ สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน เป็นโอกาสที่ดียิ่งที่ครอบครัวอาเซียนของเราจะร่วมมือเพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันเพื่อสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และก้าวไปสู่อนาคต ภายใต้กรอบของแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนของไทย “ร่วมแรง ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งผู้นำทุกท่านให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
การประชุมสุดยอดอาเซียนได้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน โดยมีการประชุมแบบเต็มคณะ และต่อเนื่องมาในช่วงเช้าของวันนี้ ที่มีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (Retreat) ซึ่งที่ประชุมสุดยอดสนับสนุนการดำเนินการของไทยในการสร้างความยั่งยืนให้อาเซียนในทุกมิติเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่าง ๆ อาทิ การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแข่งขันระหว่างประเทศนอกภูมิภาค เป็นต้น ซึ่งตลอด 5 เดือนที่ผ่านมา อาเซียนได้ดำเนินการตามแนวคิดหลัก และก่อให้เกิดความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงที่ยั่งยืน การสร้างอาเซียนที่เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ และการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อเพิ่มคุณค่าทางยุทธศาสตร์ให้กับอาเซียน และให้เกิดเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคของเรา ซึ่งเจตนารมณ์ร่วมของผู้นำในอาเซียนในเรื่องนี้ได้รับการยืนยันผ่านการรับรองวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน
เพื่อสร้างภูมิภาคที่ยั่งยืนและปลอดภัยสำหรับประชาชนในทุกสถานการณ์ อาเซียนเห็นพ้องว่า ปัญหาขยะทะเลเป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบในวงกว้างต่อชีวิตความเป็นอยู่และสุขอนามัยของประชาชน รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ และทรัพยากรทางทะเล ที่ประชุมจึงได้รับรองปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน ที่แสดงเจตนารมณ์ของอาเซียนที่มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาขยะทะเลอย่างจริงจังและยั่งยืน โดยสนับสนุนนวัตกรรม แนวคิด รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพด้านการวิจัย การประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ
นอกจากนี้ เพื่อเตรียมการรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันและภัยพิบัติ ผู้นำอาเซียนได้ร่วมกันเปิดตัวคลังเก็บสิ่งของช่วยเหลือทางไกลของอาเซียน ภายใต้โครงการจัดตั้งระบบโลจิสติกส์ฉุกเฉินสำหรับใช้ในกรณีเกิดภัยพิบัติของอาเซียน ที่เรียกกันว่าศูนย์เดลซ่า (DELSA) และดำเนินการยกระดับศูนย์แพทย์ทหารอาเซียนเป็นองค์กรของอาเซียนอย่างเป็นทางการ ซึ่งทั้ง 2 แห่งตั้งอยู่ที่ประเทศไทย
ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความตระหนักรู้และอัตลักษณ์ของอาเซียนในระดับประชาชนเป็นหนึ่งในวาระการดำเนินงานที่สำคัญของเรา ผู้นำอาเซียนได้รับรองแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน 2562 และจะมีการดำเนินการกิจกรรมตลอดทั้งปี รวมถึงการจัดตั้งเครือข่ายสมาคมอาเซียนในประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของไทย นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า อาเซียนให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งสมัชชารัฐสภาอาเซียน เยาวชน และภาคธุรกิจ เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและย้ำความสำคัญของประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและทุกฝ่ายมีส่วนร่วม
ที่ประชุมเห็นพ้องกับไทยในการส่งเสริมบทบาทนำของอาเซียนในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยอาเซียนได้ใช้เวลาหารือและจัดทำเอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific) ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการมีท่าทีร่วมกันของอาเซียนในเรื่องนี้ ตั้งแต่ผมได้เสนอให้อาเซียนมีบทบาทที่สำคัญในการเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกในการประชุมอีเอเอส (EAS) ที่ฟิลิปปินส์ เมื่อปลายปี 2560 ในการนี้ ผมขอขอบคุณประธานาธิบดีอินโดนีเซียที่ได้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน มุมมองของอาเซียนต่อแนวคิด อินโด-แปซิฟิก ซึ่งอาเซียนได้ตกลงกันว่าจะตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักการที่เป็นที่ยอมรับ อาทิ ความไว้เนื้อเชื่อใจ การเคารพซึ่งกันและกัน ผลประโยชน์ร่วมกัน ตลอดจนสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานที่ตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์ รวมทั้งหลักการที่บรรจุอยู่ในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ แทค (TAC) อาเซียนเห็นว่า ความร่วมมือในกรอบอินโด-แปซิฟิกจะต้องตั้งบนพื้นฐานของความเป็นแกนกลางของอาเซียน ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย เกื้อกูลกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วในภูมิภาคและอนุภูมิภาค และสร้างผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ประชาชนเป็นสำคัญ
ที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และเห็นพ้องกับไทยที่จะผลักดันให้การเจรจาอาร์เซ็ป (RCEP) แล้วเสร็จในปีนี้ ซึ่งจะช่วยให้อาเซียนสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้า (trade tension)ระหว่างคู่ค้าที่สำคัญของอาเซียน
นอกจากนี้ อาเซียนยินดีกับการมีอาคารสำนักเลขาธิการอาเซียนหลังใหม่ที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งพร้อมที่จะเปิดทำการอย่างเป็นทางการในวันครบรอบการก่อตั้งอาเซียนในวันที่ 8 สิงหาคม ศกนี้ ซึ่งจะช่วยให้อาเซียนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
สุดท้ายนี้ ขอแจ้งให้พี่น้องประชาชนอาเซียนทราบว่า วันนี้ผู้นำทั้งหลายได้สนับสนุนให้อาเซียนร่วมมือกันเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันบอลโลก หรือ ฟีฟ่าเวิล์ดคัพในปี 2034 ในโอกาสนี้ จึงขอเชิญชวนให้ประชาชนอาเซียนทุกคนสนับสนุนสมาคมฟุตบอลในแต่ละประเทศสมาชิกเพื่อบรรลุฝันี้ด้วยกัน
ในนามของรัฐบาลไทย ผมขอขอบคุณท่านผู้นำทุกท่านที่ให้การสนับสนุนไทยในการเป็นประธานอาเซียนและการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 และขอบคุณทุกหน่วยงานและประชาชนไทยที่ให้ความร่วมมือในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ ทำให้การประชุมประสบความสำเร็จด้วยดี และขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่านที่ได้ให้ความสนใจติดตามและรายงานข่าวการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ซึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2562 ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนอีกครั้ง โดยจะมีผู้นำจากนอกภูมิภาคเข้าร่วมด้วย
ผมขอเรียนให้ทุกท่านทราบว่า ผู้นำอาเซียนจะร่วมกันผลักดันความร่วมมือในกรอบอาเซียนให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับอาเซียนจากภายใน และเป็นพื้นฐานสำหรับอนาคตที่มั่นคงของประชาคมอาเซียนและของประชาชนชาวอาเซียนกว่า 640 ล้านคน เราทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนและประชาชนจะก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน และร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน กันต่อไป
ที่มา: http://www.thaigov.go.th