วันนี้ (23 มิถุนายน 2562) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าพบหารือทวิภาคีกับนายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ นายทองลุน สีสุลิด นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายโรดรีโก โรอา ดูแตร์เต ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และตุน ดร. มหาธีร์ บิน โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ระหว่างการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ โรงแรม The Athenee Hotel Bangkok โดยภายหลังการหารือ พลโท วีรชนสุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญการหารือดังนี้
นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ต่างยินดีที่ความสัมพันธ์ไทย-สิงคโปร์มีความใกล้ชิด โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและกลาโหม ซึ่งเป็นผลจากการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความร่วมมือที่ใกล้ชิดในอาเซียนและเวทีระหว่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายยังยืนยันความตั้งใจของที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ไทย-สิงคโปร์ในทุกมิติทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และความมั่นคงทางไซเบอร์ โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียังกล่าวชื่นชมวิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และความสำเร็จของสิงคโปร์ในการพัฒนาประเทศสู่การเป็นรัฐอัจฉริยะ จากการประยุกต์ใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศด้านดิจิทัลและนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมคนรุ่นใหม่ให้สามารถเข้าถึงธุรกิจ Start-up และ SMEs มากขึ้น ไทยจึงประสงค์จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากสิงคโปร์ พร้อมเชิญชวนนักลงทุนสิงคโปร์ที่มีความสนใจและมีความเชี่ยวชาญมาร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและธุรกิจ startup ในไทย นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ยังกล่าวชื่นชมไทยที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ซึ่งสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้คือ ความปลอดภัย การตรวจสอบและป้องกัน นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังประสงค์ที่จะมีความร่วมมือในสาขาความร่วมมือใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัล ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ รวมทั้งความร่วมมือต่างๆ ในอาเซียน
นายกรัฐมนตรีขอบคุณในความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหมอกควัน และเห็นว่าแก้ไขปัญหาดังกล่าวควรมีมาตรการร่วมกัน เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ประชาชนทั้งสองประเทศส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมจึงควรมีความรู้ความเข้าใจในการร่วมกันแก้ปัญหา ซึ่งไทยและสปป.ลาวต่างเห็นพ้องกันว่าเป็นปัญหาระดับภูมิภาคที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาค และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาตรการสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองร่วมกันเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 70 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นทวิภาคีที่สำคัญ ได้แก่ นายกรัฐมนตรีขอบคุณที่รัฐบาลลาวดูแลนักลงทุนชาวไทย และไทยพร้อมสนับสนุนการลงทุนของเอกชนในลาว ทั้งสองฝ่ายได้หารือในเรื่องการเชื่อมโยงการท่องเที่ยว การเร่งรัดเปิดใช้จุดตรวจปล่อยร่วม(Common Control Area) และการยกระดับจุดผ่านแดนไทย-สปป.ลาว เพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือทางด้านการค้าและประชาชนระหว่างทั้งสองประเทศ ตลอดจน รัฐบาลไทยได้กำหนดมาตรการการแก้ปัญหาด้านแรงงาน ซึ่งจะอำนวยความสะดวก และช่วยให้แรงงานลาวที่อยู่ในไทยทำงานได้อย่างถูกกฎหมาย
นายกรัฐมนตรี และประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ต่างยินดีที่ไทย-ฟิลิปปินส์มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่น และมีความร่วมมือด้านความมั่นคง และความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างร่วมกันจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 70 ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปีนี้ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ไทยและฟิลิปปินส์เห็นพ้องกันว่าทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพทางด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันอีกมาก จึงยังมุ่งหวังที่จะเพิ่มพูนมูลค่าทางการค้า และการลงทุนระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น โอกาสนี้ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์กล่าวชื่นชมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ของไทย พร้อมให้การสนับสนุน และมุ่งหวังที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ในปลายปีนี้
นายกรัฐมนตรีแสดงความชื่นชมนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเป็นนักการเมืองที่มีบทบาทสำคัญในอาเซียน ทั้งสองต่างยินดีที่ความร่วมมือระหว่างกันมีความคืบหน้าในทุกมิติ โดยเฉพาะความร่วมมือในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทย ในโอกาสนี้ ไทยและมาเลเซียจะเร่งผลักดันด้านโครงการการเชื่อมโยงระหว่างไทยและมาเลเซีย ให้มีความก้าวหน้า เช่น โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งใหม่ และการสร้างถนนเชื่อมด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ กับด่านศุลกากรบูกิตกายูฮิตัมในฝั่งมาเลเซีย ซึ่งจะเร่งเริ่มดำเนินการโดยเร็วเพื่อเพิ่มการท่องเที่ยว และความสะดวกในการค้าข้ามแดน เพื่อให้มูลค่าการค้ารวมไทย - มาเลเซียเพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นการส่งเสริมความเชื่อมโยงไร้รอยต่อตามแนวชายแดน และระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษในภาคใต้ของไทยกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนในภาคเหนือของมาเลเซีย ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญเรื่องการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยสันติวิธี และขอบคุณมาเลเซียที่มีบทบาทสำคัญในฐานะผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมทั้งเร่งรัดการแก้ไขปัญหาบุคคลสองสัญชาติให้มีความคืบหน้าโดยเร็ว
ที่มา: http://www.thaigov.go.th