รองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตรฯ สั่งเร่งแก้ไขปัญหาพื้นที่เสี่ยง ขาดแคลนน้ำ

ข่าวทั่วไป Wednesday August 14, 2019 14:53 —สำนักโฆษก

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563

วันนี้ (14 สิงหาคม 2562) เวลา 10.30 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และคณะกรรมการพิจารณาจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล สรุปสาระสำคัญดังนี้

ที่ประชุมได้รับทราบรายงานสถานการณ์น้ำปัจจุบัน โดยคาดการณ์ว่าปริมาณฝนช่วง 3 เดือน ในเดือนสิงหาคม จะมีปริมาณใกล้เคียงค่าปกติ ยกเว้นภาคกลางและภาคตะวันออก ในเดือนกันยายนจะมีปริมาณฝนใกล้เคียงกับค่าปกติ ยกเว้นภาคใต้ และ เดือนตุลาคม ทั่วทุกภาคของประเทศไทยจะมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 10 ปริมาณน้ำในปัจจุบัน มีผิวน้ำทั้งประเทศ 39,669 ล้านลูกบาศก์เมตร (ร้อยละ 48) โดยภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก มีปริมาณน้ำน้อยกว่า ร้อยละ 50 โดยแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำใช้การน้อยกว่าร้อยละ 30 มีถึง 26 แห่ง สำหรับสถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีน้ำใช้การรวมทั้งสิ้น 1,303 ลูกบาศก์เมตร และสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ประสานความร่วมมือกับประเทศสมาชิก เพื่อเจรจาวางแผนการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง

โอกาสนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบการเร่งรัดการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ทั้งมาตรการเร่งด่วน อาทิ การปฏิบัติการฝนหลวง การสนับสนุนเครื่องจักรเช่น รถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ การปรับลดแผนการระบายน้ำ รวมทั้งการใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง นอกจากนี้ยังมีการดำเนินการเร่งรัดหน่วยงาน ทั้งการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ ให้ประชาชนในพื้นที่และทั่วไปเข้าใจด้วย

ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เร่งติดตามช่วยเหลือในพื้นที่ 83 อำเภอ 20 จังหวัด ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย โดยเน้น 5 มาตรการหลัก คือ 1.) มาตรการปฏิบัติการฝนหลวง 2.) สำรวจพื้นที่ขาดแคลนน้ำพร้อมสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์ 3.) ปรับแผนการระบายน้ำจากแหล่งต่าง ๆ 4.) ปรับลดแผนการระบายน้ำ 4 เขื่อนหลัก และ 5.) วางแผนการใช้น้ำจากลุ่มน้ำแม่กลอง พร้อมเน้นการจัดทำแผนงานเพื่อลดความซับซ้อน โดยให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติไปตามแผนทั้งในระยะต้น ระยะกลาง และระยะปลาย เพื่อพัฒนาให้เป็นไปตามแผนแม่บทที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลด้วย

.................................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ