นายกรัฐมนตรีตรวจสภาพอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มากฯ จ.บุรีรัมย์ ชื่นชมประชาชนเสียสละที่ดินทำระบบผันน้ำ แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ ย้ำรัฐบาลเร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้รับผลกระทบจากภัยแล้งโดยด่วน

ข่าวทั่วไป Monday August 19, 2019 13:43 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีตรวจสภาพอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มากฯ จ.บุรีรัมย์ ชื่นชมประชาชนเสียสละที่ดินทำระบบผันน้ำ แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ ย้ำรัฐบาลเร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้รับผลกระทบจากภัยแล้งโดยด่วน

วันนี้ (19 สิงหาคม 2562) เวลา 14.12 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางมายังอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก โครงการชลประทานบุรีรัมย์ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อตรวจสภาพอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก และสถานการณ์น้ำของจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมพบปะประชาชนเพื่อรับฟังปัญหาในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการน้ำทั้งระบบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด บรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำให้ประชาชนมีน้ำเพียงพอในการอุปโภคบริโภค และด้านการเกษตร โดยมี นายธีรวัฒน์ วุฒิคุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้ง 23 อำเภอให้การต้อนรับ

เมื่อนายกรัฐมนตรีเดินทางมาถึงได้เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์บ้านสวายสอซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของกลุ่มชนไทยเขมรสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกพืชอินทรีย์หรือพืชผักปลอดสารพิษ และนิทรรศการเกี่ยวกับการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย ซึ่งสูญพันธุ์ไปเมื่อ 15 ปีก่อน ปัจจุบันได้มีการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทยในบริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีตัวแทนยุวมัคคุเทศก์ในพื้นที่บรรยายสรุป

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินขึ้นไปยังหอชมนกเพื่อตรวจสภาพอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธ์สัตว์น้ำจืดและสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของประชาชน รวมถึงเป็นแหล่งน้ำดิบเพื่อการประปาในเขตตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ร่วมกับอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด (ใช้น้ำดิบผลิตประปาวันละประมาณ 50,000 ลบ.ม.) รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำของจังหวัดบุรีรัมย์ และแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมทั้งสถานการณ์น้ำด้านการอุปโภคบริโภคในพื้นที่และน้ำที่เกี่ยวข้องในด้านการเกษตรจากผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบเกียรติบัตรและถ่ายภาพร่วมกับกลุ่มประชาชนที่อนุญาตให้ทางการเข้าไปในที่ดินส่วนตัวเพื่อทำระบบผันน้ำลำปะเทีย - อ่างเก็บน้ำห้วยตลาดในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง จำนวน 118 คน เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นขวัญกำลังใจและขอบคุณประชาชนที่มีจิตสาธารณะเสียสละที่ดินของตนเองเพื่อส่วนรวมในการดำเนินการดังกล่าวเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์

โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวทักทายประชาชนชาวบุรีรัมย์ทุกคนที่มาให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ซึ่งการเดินทางมาวันนี้ก็เพื่อมาแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืน โดยจังหวัดบุรีรัมย์ถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพหลายด้าน ทั้งด้านการท่องเที่ยวและกีฬา ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ของตนเอง นอกจากนี้การเดินทางมาจังหวัดบุรีรัมย์ก็มาด้วยความห่วงใย และอยากมาเห็นสภาพปัญหาด้วยตนเอง ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบภัยแล้ง รวมทั้งมาดูความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาและการเตรียมแผนรับมือในฤดูภัยแล้งในอนาคต โดยเมื่อเช้าได้ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคอีสาน 20 จังหวัด เพื่อติดตามการแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามทำหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยได้กำชับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลเพื่อให้สถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลายโดยเร็ว โดยได้มีการอนุมัติหลักการแก้ไขปัญหาที่เสนอมา โดยจะมีการจัดลำดับการดำเนินการตามความสำคัญเร่งด่วน

พร้อมขอบคุณประชาชนที่มีจิตสาธารณะ ที่เสียสละที่ดินของตนเองเพื่อส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ จึงขอให้ทุกคนมีน้ำใจเสียสละเพื่อส่วนรวมให้มากขึ้นเช่นเดียวกับกลุ่มประชาชนดังกล่าว สำหรับการขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้นนั้นสาเหตุมาจากฝนตกน้อย ซึ่งเกิดจากอากาศเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามหวังจะมีพายุเพื่อจะทำให้ฝนตกลงและมีน้ำมาเพิ่ม โดยให้ทุกคนดูแลในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ รวมทั้งจะทำอย่างไรให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลก็จะพยายามทำอย่างต่อเนื่อง ส่วนการเพิ่มขนาดความจุของอ่าง ก็อยู่ในแผนที่จะดำเนินการต่อไป เช่น การขุดแลกดิน เพื่อนำดินไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นต่อไป รวมไปถึงการขุดน้ำในที่นาเพื่อเก็บกับน้ำไว้ใช้ในไร่นา

นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวย้ำว่า ขณะนี้รัฐบาลได้มีมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะที่เป็นเกษตรกรรายย่อยและเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง ทั้ง 13 จังหวัด โดยร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้แก่ (1) การลดดอกเบี้ยเงินกู้ภัยแล้ง (2) การพักหนี้ภัยแล้ง (3) การให้สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย และ (4) การสนับสนุนต้นทุนค่าปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ขณะเดียวกันการปลูกพืชต้องสอดคล้องกับพื้นที่ และปริมาณน้ำ รวมทั้งเป็นไปตามแผน Agri-map และให้มีปริมาณที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาด โดยได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการในเรื่องของปุ๋ยสั่งตัดเพื่อให้ตรงกับพืชแต่ละชนิดและพื้นที่อย่างแท้จริง รวมทั้งได้สั่งการให้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และบูรณาการข้อมูลเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้ทันท่วงที โดยได้เปิด “ศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจ” เพื่อแก้วิกฤตแล้งในช่วงฤดูฝน ทั้งนี้ ขอฝากให้ทุกคนเตรียมในเรื่องการทำเกษตรยุคใหม่ โดยมีการนำเทคโนลยีมาให้ในการทำการเกษตรและการประกอบอาชีพอื่น ๆ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันต้องร่วมกันส่งเสริมให้ลูกหลานเรียนในสาขาที่ตรงกับความต้องการของตลาดและการพัฒนาประเทศในอนาคต

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลได้มีมาตรการแก้ไขภัยแล้งใน 3 ระยะ ประกอบด้วย (1) มาตรการระยะเร่งด่วน 6 มาตรการ ได้แก่ ปฏิบัติการฝนหลวงเหนืออ่างเก็บน้ำและพื้นที่เกษตร สำรวจพื้นที่ขาดแคลนน้ำ/สนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือ ปรับแผนระบายน้ำโดยเฉพาะแหล่งน้ำที่มีน้ำน้อยกว่า 30% ปรับลดแผนระบายน้ำ 4 เขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยา การประปานครหลวงวางแผนใช้น้ำจากลุ่มแม่กลองร่วมกับ กฟผ. / กรมชลประทาน สร้างความเข้าใจสถานการณ์น้ำแก่ผู้เกี่ยวข้อง (2) มาตรการระยะสั้น 4 มาตรการ ได้แก่ เร่งรัดหน่วยงานที่ได้รับงบกลางเพื่อก่อสร้างและซ่อมแซมฝายชะลอน้ำให้ทันรับน้ำในฤดูฝน ปรับแผนขุดเจาะบ่อบาดาล จัดทำแผนตามความเร่งด่วน โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภค และกำหนดนโยบายช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย และ (3) มาตรการระยะยาว 3 มาตรการ ได้แก่ เร่งรัดโครงการตามแผน Area Based แผนน้ำ 20 ปี ทำทะเบียนแหล่งน้ำ ทะเบียนผู้ใช้น้ำ และปรับแผน-ปฏิทินเพาะปลูกล่วงหน้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้เร่งรัดมาตรการระยะเร่งด่วนและระยะสั้น ทั้งการเร่งดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ การพิจารณาใช้พลังงานทางเลือกในการสูบน้ำบาดาล และการรายงานผลการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเป็นระยะ เช่น ปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ การสนับสนุนเครื่องมือเครื่องจักร ตลอดจนตั้งศูนย์เฉพาะกิจต่าง ๆ ให้ทำงานสอดประสานกัน ตลอดจนให้ปรับแผนการระบายน้ำ การรับมือภัยแล้ง ต้องเร่งช่วยเหลือโดยเร็ว พร้อมกับวางแผนจัดสรรน้ำให้เพียงพอถึงปีหน้า

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ได้รับทราบถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก และอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปานั้น จึงได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและอ่างเก็นน้ำห้วยตลาด แล้วหาน้ำมาเติมให้เพียงพอต่อการผลิตน้ำปะปา และน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนเพื่อไม่ให้กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน

นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมโรงเรียนมีชัยพัฒนา ซึ่งถือเป็นต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำโดยร่วมกับหน่วยงานเอกชนสาธารณะประโยชน์ ชุมชน และภาคธุรกิจเอกชน ที่ส่งเสริมให้นักเรียน คนในชุมชน ได้มีความรู้ในการเก็บกักน้ำ และการประหยัดน้ำ ทั้งการบริหารจัดการน้ำฝนและน้ำผิวดิน การบริหารจัดการน้ำบาดาล การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร โดยส่งเสริมการเกษตรที่ใช้พื้นที่น้อย น้ำน้อย แรงน้อย และผลตอบแทนดี นวัตกรรมเครื่องกรองน้ำซีเมนต์ระดับหลังคาเรือน และการผลิตน้ำจากความชื้นในอากาศ ซึ่งนับว่าเป็นต้นแบบให้กับพื้นที่อื่น ๆ ได้นำไปปฏิบัติต่อไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความชื่อมั่นว่าบุรีรัมย์ และกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ จะสามารถก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางของนักลงทุน นักท่องเที่ยว และการพัฒนาความเจริญคู่ไปพร้อมกันทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ ถนนหนทาง สุขภาพอนามัย การบริการทางการแพทย์สมัยใหม่ที่สะดวกรวดเร็ว ตลอดทั้งกิจกรรมการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้าสู่จังหวัดบุรีรัมย์ จึงขอให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างเต็มที่ และขอให้เชื่อมั่นว่าโครงการต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ริเริ่มไว้ จะเริ่มเห็นผลในไม่ช้า ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนใน EEC รถไฟความเร็วสูง และรถไฟรางคู่ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และชาติบ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง และยั่งยืน

----------------------

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ