วันนี้ (4 ก.ย.62) เวลา 13.30น. ณ ห้องสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด หาแนวทางช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดภาคเหนือ โดยมีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมหารือด้วย
ศาตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยข้อสังการนายกรัฐมนตรีในการประชุมร่วมผู้ว่า 17 จังหวัดภาคเหนือว่า รัฐบาลตั้งใจแก้ปัญหาน้ำอย่างยั่งยืน ทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกัน รวมถึงเกษตรกรด้วย วันนี้ตั้งใจเดินทางมาติดตามปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและสุโขทัย เพราะเป็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมมาโดยตลอด ต้องมาหาแนวทางมาร่วมกัน ทั้งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในที่ลุ่ม ปรับเปลี่ยนอาชีพ ส่งเสริมอาชีพประมง อาชีพเลี้ยงสัตว์ และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำคลองชมพู และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำวังทอง โครงการที่มีความเร่งด่วนสามารถทำก็ให้พิจารณาดำเนินการก่อน โดยต้องหาแนวทางในการเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ทั้งเร่งเยียวยาในส่วนพื้นที่การเกษตรที่เสียหายตามหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ ทั้งนี้ ขอให้น้อมนำแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติ โดยเฉพาะการจูงน้ำไปเก็บไว้ และในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงห่วงใยและสั่งให้ดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด ซึ่งขอแสดงความเสียใจต่อประชาชนที่สูญเสียซึ่งสั่งให้ความช่วยเหลือโดยด่วนแล้ว
ในที่ประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยยังย้ำว่า ความเสียหายครั้งนี้มีมาก รวมแล้วกว่า 6 แสนกว่าไร่ ส่วนใหญ่เป็นที่นา รวมทั้งมีการรายงานผู้เสียชีวิตรวม 16 ราย จึงต้องยกระดับการแจ้งเตือน น้ำหลากมาฉับพลัน เพื่อให้พร้อมรับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ทุกฝ่ายต้องติดตามสถานการณ์พายุและมีการแจ้งเตือนภัยอย่างใกล้ชิด ติดตามประเมินสถานการณ์ ปรับแผนการทำงานที่เหมาะสมกับสถานการณ์ ให้มีการระบายน้ำที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการเร่งอพยพประชาชนให้ไปอยู่ในที่ปลอดภัยโดยด่วน กรณีมีน้ำท่วมสูง หลังน้ำลดก็ให้เร่งแก้ปัญหาเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ ตลอดจนพิจารณาตามแนวทางนายกรัฐมนตรีให้จูงน้ำไปเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้ง และแนวทางใหม่ คือการนำน้ำไปเก็บในที่เอกชนหรือที่ของประชาชน ให้เป็นพื้นที่รับน้ำ โดยต้องมีการฟื้นฟูเยียวยาอย่างเหมาะสมด้วย ทั้งนี้ ในหลวงรัชกาลที่ 10ทรงพระราชทานแนวทางว่า จะต้องให้ประชาชนกลับมามีชีวิตปกติให้เร็วที่สุด โดยให้ท้องถิ่นและป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยลงไปช่วยดูแลก่อนเลย โรงครัวพระราชทานนำส่งอาหารถึงบ้านสำหรับบางคนที่ต้องเฝ้าบ้าน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กล่าวว่า กรมชลประทานได้จัดเวรเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง และเร่งฟื้นฟูเยียวยาภายหลังน้ำลดทุกพื้นที่ โดยมีการเร่งสำรวจความเสียหายเพื่อให้ได้ข้อมูลภายในหนึ่งสัปดาห์ รวมทั้งให้กรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจพื้นที่ที่จูงน้ำเข้าไปเก็บ การนำสัตว์น้ำไปปล่อยในพื้นที่เพื่อเป็นอาหารสำหรับประชาชน รวมถึงการนำพันธุ์พืชอายุสั้นมอบให้เกษตรกรเพาะปลูกเพื่อสร้างรายได้และอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่
นายกรัฐมนตรีได้กำชับข้าราชการระดับจังหวัดจะต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทุกส่วนราชการที่ขึ้นกับผู้ว่าราชการจังหวัดต้องทำงานอย่างเข้มแข็งต้องไม่มีการทุจริต มาตรการรองรับภัยต้องมีแผนดำเนินการตั้งแต่ก่อนเกิดภัย การประชาสัมพันธ์ต้องแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ ให้เฝ้าระวังและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง การอพยพประชาชนไปอยู่ในที่ปลอดภัย รวมทั้งเร่งดำเนินการเยียวยาหลังน้ำลด การสนับสนุนเครื่องจักรเครื่องมือ รวมทั้งต้องเตรียมการพร้อมรับพายุลูกใหม่ที่จะเกิดขึ้น ทั้งการประกาศแจ้งเตือนทางวิทยุและสื่อโชเชียลต่าง ๆ ผ่านทางโทรศัพท์ หากพื้นที่น้ำหลาก เจ้าหน้าที่ต้องรีบดำเนินการตัดไฟทันที เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน เฝ้าระวังสัตว์มีพิษ ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ ทั้ง 3 ส่วน คือ งบกลางใช้เร่งด่วน งบฟังก์ชั่น และงบท้องถิ่น ขอให้ดำเนินการตามห้วงเวลาและเป้าหมายที่กำหนด นายกรัฐมนตรียังพร้อมรับพิจารณาโครงการเกี่ยวกับน้ำของทุกจังหวัด ขอเพียงให้ดำเนินการอย่างถูกต้องตามขั้นตอนและจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน ก่อน จากนั้น นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะได้เดินทางต่อไปยัง อ. วังทอง เพื่อมอบสิ่งของพระราชทานฯ ผู้ประสบภัยด้วย
.........................................................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ และสำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th