วันนี้ (11 ต.ค.62) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) ครั้งที่ 4/2562 ซึ่งภายหลังการประชุม นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กรรมการและเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (ปลัด กก.) และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าฯ ททท.) ร่วมกันแถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญดังนี้
ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ รับทราบสถานการณ์เศรษฐกิจล่าสุดของเศรษฐกิจโลกและแนวทางการขับเคลื่อนต่อไป โดยในเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกและภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลกระทบกับหลากหลายพื้นที่ และความเข้มข้นของสถานการณ์สงครามการค้าโลกที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา รวมถึงปัญหาเบร็กซิท โดยขณะนี้ผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นได้เพิ่มเติมในดัชนีต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการส่งออก ที่ล่าสุดตัวเลขเดือนสิงหาคม ออกมาไม่ค่อยดีนัก รวมไปถึงเรื่องดัชนีการผลิตภาคเอกชนที่ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง การบริโภครถยนต์ สินค้าคงทน ก็เริ่มติดลบเช่นเดียวกัน ทำให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ผลกระทบเริ่มลุกลามมาที่ประเทศไทยต่อเนื่อง แต่ดัชนีบางตัวก็ยังไปได้ เช่น เรื่องการท่องเที่ยว ที่เป็น 1 ในเป้าหมาย 7 ด้านที่เป็นไปตามเป้าหมาย และสามารถดำเนินการได้ตามที่ตั้งใจไว้ วันนี้ที่ประชุมจึงได้หารือถึงแนวทางทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะมาประมาณ 20 ล้านคนในครึ่งหลังของปีนี้ รวมเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณเกือบ 40 ล้านคนตลอดทั้งปี อันจะนำมาถึงรายได้ที่เข้าเป้า
ขณะเดียวกัน เรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณก็ดีขึ้น จากข้อมูลล่าสุดของประเทศไทยในเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณไตรมาสที่ 2 ติดลบประมาณ 15%-16% แต่เมื่อมาถึงไตรมาสที่ 3 มีรัฐบาล ก็จะเห็นการเบิกจ่ายงบประมาณที่เริ่มกลับมาเป็นปกติ ขยายตัวประมาณ 1% กว่า ๆ ซึ่งฝ่ายเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ ได้รายงานนายกรัฐมนตรีและครม.เศรษฐกิจ ว่าขณะนี้ยังมีบางส่วนที่ยังต้องมีการติดตามเร่งรัดเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ดีขึ้น นอกจากเรื่องการเบิกจ่ายภาครัฐแล้ว ยังมีการเบิกจ่ายของรัฐวิสาหกิจสำคัญ ๆ ซึ่งบางแห่งยังต่ำกว่าเป้าที่วางไว้ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย การประปาส่วนภูมิภาค การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้ ครม.เศรษฐกิจได้สั่งการให้ฝ่ายเลขานุการฯ หารือและเร่งการเบิกจ่ายในไตรมาสที่ 4 ให้ได้ เพื่อจะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนในช่วงปลายปี 62
“ทางเราดูข้อมูลเศรษฐกิจทั้งหมด และดูถึงประมาณการ อย่างประมาณการของแบงก์ชาติ เราก็คิดว่าตัวของเศรษฐกิจของประเทศไทย น่าจะค่อย ๆ ทยอยดีขึ้นในไตรมาสที่ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 4 เทียบกับไตรมาสที่ 3 และทั้งหมดในการประชุมครั้งหน้าจะนำประมาณการล่าสุดเสนอ ครม.เศรษฐกิจ และดูว่าจะต้องมีมาตรการเสริมอีกต่อไปหรือไม่ โดยการประชุม ครม.เศรษฐกิจครั้งหน้า จะหารือเรื่องการส่งออกและเอสเอ็มอีทั้งระบบ ที่จะมีกองทุนหมื่นล้านออกไปช่วยเหลือเอสเอ็มอีต่าง ๆ จากนั้นลำดับต่อไปจะเป็นเรื่องของ อปท. และการใช้จ่ายภาครัฐในด้านอื่น ๆ” กรรมการและเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจกล่าว
พร้อมกันนี้ ครม.เศรษฐกิจพิจารณาเรื่องนโยบาย แนวทาง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว โดยภาคการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 20 ล้านคนในครึ่งหลังของปี โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามีจำนวน 3.47 ล้านคน ถือว่าดีมาก ขยายตัวเกือบ 7% ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวที่ดีและจะเดินหน้าต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกำลังมีปัญหาเกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านขณะนี้ ทำให้นักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้ ในการประชุมหารือทุกครั้งของ ครม.เศรษฐกิจเป็นการดูปัญหาทั้งระบบ ไม่ได้ดูเฉพาะกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ซึ่งปลัด กก. และผู้ว่าฯ ททท. ได้หารือกับทุกหน่วยงาน ดูปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ ในขณะที่ประเทศไทยกำลังทำเรื่องชิม ช็อป ใช้ ส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ ก็ต้องกลับมาดูนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ต้องหาทางทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่ประเทศไทยและควักกระเป๋าให้มากขึ้น ซึ่งที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจวันนี้มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดังนี้
ระยะสั้น (ภายในปี 2562) 1. มาตรการ ด้านการเงิน การคลังและกฎหมาย ประกอบด้วย 1.1 การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT Refund ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเพิ่มร้านค้าที่สามารถทำรายการคืน VAT Refund เพิ่มจุดให้บริการในพื้นที่เมือง และคืนภาษีในรูปแบบเงินสด ณ จุดขาย 1.2 การทบทวนข้อกฎหมาย ระเบียบ มาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวของคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในไทย ได้แก่ มาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติตรวจคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง 1.3 การหักรายจ่าย 2 เท่าของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายในการจัดอบรม สัมมนาภายในประเทศ 2. มาตรการอำนวยความสะดวกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 2.1 การอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวด้านมาตรการการตรวจลงตรา (วีซ่า) ได้แก่ การเร่งรัด การดำเนินมาตรการด้านการตรวจลงตราวีซ่า 3 ฉบับ คือ (1) Double Entries Visa (2) Re-entry Permit และ (3) หลักเกณฑ์ด่านบก ที่ ครม. ได้ให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 2.2 การขยายระยะเวลาการเปิดด่านชายแดนจาก 08.30 – 16.30 น. เป็น 24 ชั่วโมงในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือวันหยุดยาว จำนวน 2 ด่าน ได้แก่ ด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย และด่านชายแดนไทย-ลาว เป็นระยะเวลา 6 เดือนและติดตามประเมินผล 2.3 ขอความร่วมมือกระทรวงการต่างประเทศในการเร่งรัดการใช้ระบบ E-Visa ให้ครอบคลุมกับนักท่องเที่ยวชาวจีนทั่วประเทศ 2.4 ขอความร่วมมือเร่งประชาสัมพันธ์ระบบ E-VoA ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูล 2.5 ทบทวนข้อกฎหมายของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมถือบัตรเครดิตหรือการใช้กระเป๋าเงิน อิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) 3. มาตรการกระตุ้นตลาด และเพิ่มค่าใช้จ่าย 3.1 โครงการ Amazing Thailand Grand Sale “Passport Privileges” 3.2 โครงการประชุมเมืองไทยภูมิใจช่วยชาติ กระตุ้นบริษัท (Corporate) โดยการให้ Voucher 20,000 บาทต่องาน/กลุ่ม เพื่อกระตุ้นการจัดประชุมองค์กรและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลในประเทศไทย 3.3 ส่งเสริมการจัดประชุมภาครัฐ (Government Meeting) โดยขอความร่วมมือให้จัดประชุมสัมมนา นอกสถานที่
ระยะกลาง-ยาว (ปี 2563 เป็นต้นไป) 1. มาตรการ ด้านการเงิน การคลังและกฎหมาย การส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสถานพักแรม และให้สินเชื่อพิเศษสำหรับผู้ประกอบการสถานพักแรม ในการปรับปรุงสถานประกอบการและบริการให้มีมาตรฐาน 2. มาตรการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 2.1 การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ในด้านความปลอดภัย และลดจำนวนการสูญเสียชีวิตและการบาดเจ็บของนักท่องเที่ยว 2.2 การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ด้านวัฒนธรรมโดยเพิ่มจำนวนแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลก ทั้งในส่วนที่เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม และ/หรือ มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ 3. มาตรการกระตุ้นตลาดและเพิ่มค่าใช้จ่าย 3.1 การจัดกิจกรรมมหกรรมระดับโลกหรือกิจกรรมขนาดใหญ่ (World Event / Mega Event) เช่น การจัดงานวิ่ง Trail/Ultra Trail, Amazing Thailand Marathon Series, Moto GP, Super GT, การแข่งขันจักรยาน Tour de France, มหกรรมด้านนันทนาการ อาทิ คอนเสิร์ต Tomorrow Land, EDC (Electric Daisy Carnival), Ultra Music Festival มหกรรมด้านความงาม สุขภาพและสาธารณสุข (Health, Wellness & Rehabilitate) อาทิ World Cannabis Expo, World Health & Wellness Expo เป็นต้น 3.2 การดึงงานประชุมองค์กรจากต่างประเทศมาจัดในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการจัดงานขนาดใหญ่หรืองานที่มีผลกระทบสูง รวมถึงการกระจายพื้นที่จัดงานสู่ภูมิภาค
กรรมการและเลขานุการ ครม.เศรษฐกิจ กล่าวในตอนท้ายว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการให้เร่งดำเนินการ เช่น ในเรื่องการเปิดด่าน ให้ไปทดลองทำ 3 เดือนก่อน ดูว่าได้ผลอย่างไร หากได้ผลดีก็จะดำเนินการต่อไป และนายกรัฐมนตรีก็มีข้อคิดเห็นในหลายเรื่อง นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือในเรื่องของแลนดิ้งฟรีให้กับชาร์เตอร์ไฟลท์ต่าง ๆ ที่มาประเทศไทย โดยจะมีการหารือร่วมกับ AOT ให้ดูแลนักท่องเที่ยวที่รายได้สูงให้สามารถชาร์เตอร์ไฟลท์มาได้ เพื่อให้ภูมิภาคอินโดจีน อาเซียน มาใช้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการท่องเที่ยวในอีเว้นท์สำคัญต่าง ๆ ตลอดทั้งปี
----------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th