วันนี้ (21 ต.ค.62) เวลา 09.30 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ครั้งที่ 1/2562 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่า SME เป็นอีกหนึ่งกลไกหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยไปข้างหน้าท่ามกลางสถานการณ์ปัญหาเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ ซึ่งการประชุมหารือร่วมกันวันนี้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาปรับปรุง SMEที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
พร้อมทั้งให้ สสว. เร่งรัดดำเนินการให้ SME ที่ยังไม่มาขึ้นทะเบียนกับ สสว. ขึ้นทะเบียนให้เรียบร้อย (ปัจจุบันประเทศไทยมี SME ประมาณ 3 ล้านกว่าราย) เพื่อจะได้รับประโยชน์และความช่วยเหลือจากภาครัฐตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันให้เชื่อมโยงการทำงานร่วมกันระหว่าง SME สสว. กับสตาร์อัพ ที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (depa) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการอยู่ และให้เตรียมความพร้อมแรงงานของประเทศให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของโลกตลอดจนการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยเฉพาะแรงงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้คนไทยหรือแรงงานในประเทศมีตำแหน่งงานที่เหมาะสมตรงกับความต้องการของตลาดและไม่ตกงาน ขณะเดียวกันให้มีการสนับสนุนส่งเสริมในเรื่องภาษาต่างประเทศในภาคบริการและท่องเที่ยว เช่น ภาษาอังกฤษ ฯลฯ รวมทั้งขับเคลื่อนสนับสนุน SME ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ เช่น เรื่องของการผลิตเสื้อผ้า เป็นต้น และให้ดูแลครอบคลุมในภาคเกษตร และเศรษฐกิจฐานราก ให้ SME ได้เติบโตอย่างเข้มแข็ง
ภายหลังการประชุมฯ นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุม สสว. ได้อนุมัติและเห็นชอบแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณปี 2562-2563 และให้จัดสรรเงินกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อใช้จ่ายในการดำเนินงานโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย กรอบวงเงินงบประมาณ 10,000 ล้านบาท ภายใต้มาตรการเพื่อการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ
สำหรับความเป็นมากองทุนดังกล่าวนั้น กระทรวงการคลังได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2562 เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ รวมทั้ง เพื่อสนับสนุน SMEs ทั่วไปให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน เสริมสภาพคล่องหรือลงทุนขยายกิจการ และสนับสนุน SMEs ในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเพื่อปรับปรุงซ่อมแซม ขยายกิจการ และยกระดับการพัฒนามาตรฐานการให้บริการ โดยจัดสรรงบประมาณผ่านกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 1.0 % ต่อปี โดยให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นหน่วยร่วมดำเนินการ และกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เหมาะสมเพิ่มเติม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเร่งการช่วยเหลือ SMEs และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 อนุมัติโครงการดังกล่าว โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ทั้งนี้ให้ สสว. กำหนดประเภทและกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณให้มีความชัดเจน โดยให้คำนึงถึงโอกาสในการยกระดับกิจการ SME เป็นสำคัญ
ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สสว. และ ธพว. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินงานโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อย กำหนดแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ปี 2562-2563 โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี คาดว่าจะมีผู้ได้รับอนุมัติวงเงินสินเชื่อจำนวนไม่น้อยกว่า 12,250 ราย แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ กรณีบุคคลธรรมดา วงเงินกู้ไม่เกิน 500,000 บาท กรณีนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดา ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม วงเงินกู้ไม่เกิน 1.0 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1.0 % ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 7 ปี ระยะเวลาปลอดชำระคืนเงินต้นไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้จะต้องมีบุคคลค้ำประกัน และเป็นผู้ที่ไม่เคยเป็นผู้ได้รับการช่วยเหลือเงินทุนในโครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม โครงการฟื้นฟูกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ โดย ธพว. เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2562 – เดือนตุลาคม 2563
ทั้งนี้ สสว. คาดว่า ภายใต้โครงการกองทุนหมื่นล้าน จะมี SMEs รายย่อยได้รับการอนุมัติเงินกู้ไม่น้อยกว่า 12,250 ราย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนรวม 9,794 ล้านบาท เพื่อนำไปปรับปรุง ซ่อมแซม ขยายกิจการ ยกระดับการพัฒนาการให้บริการและขยายกำลังการผลิต ซึ่งจะทำให้กิจการสามารถดำเนินงานต่อไปได้ ส่งผลให้มีรายได้สูงขึ้น ทั้งนี้จะทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนของเงินทุนในระบบสูงขึ้น ซึ่งคาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการ SMEs รายย่อย ภายใต้โครงการมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 นอกจากนี้ยังเป็นการรักษาการจ้างงาน หรือเกิดการจ้างงานเพิ่มสูงขึ้นด้วย
-------------------
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ข้อมูล: สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
ที่มา: http://www.thaigov.go.th