วันนี้ (4 พฤศจิกายน 2562) เวลา 08.30 น. ณ ห้อง Sapphire 204 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 22 ภายหลังเสร็จสิ้น ศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
การประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 22 ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น โดยจัดขึ้นเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสาม โดยเน้นแนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียนของไทย และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่เป็นข้อห่วงกังวลร่วมกัน
นายกรัฐมนตรีกล่าวในนามรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 22 พร้อมแสดงความเสียใจกับรัฐบาลและประชาชนชาวญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นฮากิบิสเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยประเทศไทยหวังว่า กระบวนการฟื้นฟูพื้นที่และประชาชนที่ประสบภัยให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็ว
โดยความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสามเป็นกรอบความร่วมมือที่มีพลวัตมากที่สุดกรอบหนึ่ง ในภูมิภาคอาเซียน และเป็นเสาหลักที่สำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือเฉพาะด้าน รวมทั้งการสร้างแนวคิดการเป็น ประชาคมในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในทั้ง 13 ประเทศ ความร่วมมือดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการ 3M ได้แก่ ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ผลประโยชน์ร่วมกัน และการเคารพซึ่งกันและกัน
ภายใต้กระแสความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่าง ๆ ในปัจจุบัน ทั้งการแข่งขันทางการค้า และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ที่เป็นผลมาจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 ซึ่งอาเซียนบวกสามจะต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เราควรเตรียมความพร้อมให้อาเซียนบวกสามในการรับมือ และมุ่งมั่นที่จะสร้างโอกาสจากความท้าทายเหล่านั้น
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอแนวทางส่งเสริมความร่วมมือในกรอบอาเซียนบวกสาม 2 ประการ ได้แก่ ประการที่หนึ่ง ความเชื่อมโยงในภูมิภาค ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเชื่อมโยง ในภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย-แปซิฟิกมาโดยตลอด ซึ่งการส่งเสริมการเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยง ต่าง ๆ ของภูมิภาคจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกให้เป็นกลไกที่สำคัญของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปอย่างต่อเนื่อง
ประการที่สอง ความยั่งยืนในทุกมิติ ไทยในฐานะผู้ประสานงานของอาเซียนในเรื่องการพัฒนา ที่ยั่งยืนขอให้ประเทศบวกสามสนับสนุนความมุ่งมั่นของอาเซียน ทั้งนี้ ขอให้ประเทศบวกสามสนับสนุนอาเซียน โดยเฉพาะในการจัดตั้ง “ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการ หารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน” และ “ศูนย์อาเซียนเพื่อผู้สูงวัยอย่างมีศักยภาพและนวัตกรรม” ที่ประเทศไทย
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าความร่วมมืออาเซียนบวกสามจะเป็นกลไกที่สำคัญนำไปสู่หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันของภูมิภาคเอเชียตะวันออก พร้อมขอบคุณประเทศสมาชิกอาเซียน จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และสำนักเลขาธิการอาเซียนที่มีส่วนช่วยสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของไทยมาโดยตลอดทั้งปี
ที่มา: http://www.thaigov.go.th