วันนี้ ( 14 พฤศจิกายน 2562) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอกพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 2/2562
ที่ประชุม ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2562/63 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา มีการคาดการณ์ภาพรวมปริมาณฝนในเดือนพฤศจิกายนต่ำกว่าปกติ โดย ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง จะมีค่าต่ำกว่าค่าปกติประมาณ 30% ขณะที่ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะต่ำกว่าค่าปกติประมาณ 20% ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะใกล้เคียงค่าปกติ สำหรับเดือนธันวาคม ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติประมาณ 50% ภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีปริมาณฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติประมาณ 20% และเดือนมกราคม ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติประมาณ 50% ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงค่าปกติ ขณะที่ 10 เขื่อนใหญ่ยังมีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% อาทิ เขื่อนภูมิพล กระเสียว จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ รวมทั้งแหล่งน้ำขนาดกลางมีปริมาณน้ำน้อยถึง 74 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่บริเวณภาคเหนือ 28 แห่งและภาคอีสาน 37 แห่ง
รองนายกฯ จึงย้ำให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินมาตรการรองรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2562/63 โดยเฉพาะการป้องกันผลกระทบในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรฯ กำหนดมาตรการรองรับพื้นที่ปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องปี 2562 โดยไม่ให้กระทบต่อแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 ซึ่งในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมีการจัดสรรน้ำทั้งประเทศเกินแผน จำนวน 1,350 ล้าน ลบ.ม. ข้อมูลดาวเทียมยังพบว่า พื้นที่ปลูกข้าวนาปี 60.08 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 17.11 ล้านไร่ และมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง 1.35 ล้านไร่ แบ่งเป็นในเขตชลประทาน 1.27 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 0.08 ล้านไร่ ขณะที่การประเมินพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 2562/63 จากข้อมูลดาวเทียม (7 พ.ย. 62) มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 229,803 ไร่ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 21 จังหวัด
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขงที่ลดลงในช่วงฤดูแล้ง โดยสถานการณ์เอลนีโญจะยังคงมีผลต่อภูมิภาคทำให้ไม่มีปริมาณฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง จึงได้พิจารณาทั้งมาตรการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ โดยมอบหมาย สทนช.เร่งดำเนินการใช้มาตรการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันและแก้ปัญหาแม่น้ำโขง แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์น้ำแล้งในภูมิภาค และมาตรการภายในประเทศ ในระยะเร่งด่วนให้ป้องกันผลกระทบกับวิถีชีวิตประชาชนและการประกอบอาชีพใน โดยให้มีการจัดหาแหล่งน้ำสำรองและขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล เพื่อสำรองปริมาณน้ำในการอุปโภค-บริโภค มอบหมายกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะจังหวัดริมแม่น้ำโขง เร่งประชาสัมพันธ์ ให้ผู้ใช้น้ำภาคการเกษตรและประมงรับรู้เข้าใจแนวโน้มสถานการณ์วิกฤติน้ำ และมอบหมายกระทรวงคมนาคมกำหนดมาตรการการขนส่งและการคมนาคมทางน้ำ รวมทั้งมาตรการรองรับการพังทลายของตลิ่งริมฝั่งโขงด้วย
รองนายกรัฐมนตรีได้เร่งหน่วยงานให้ดำเนินการตามมาตรการแนวทางปฏิบัติตามมติ ครม.ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งเพื่อป้องกันภัยแล้ง และอุทกภัยทางภาคใต้ โดยต้องมีการเก็บกักน้ำทุกรูปแบบทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน มีการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2562/63 อย่างรัดกุมเป็นไปตามมาตรการที่กำหนด รวมถึงประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ให้ประชาชนรับทราบสถานการณ์ที่ถูกต้องรวมทั้งการช่วยเหลือของรัฐบาล และรายงานผลการดำเนินการต่อ สทนช.ทุกสัปดาห์เพื่อกำกับ ติดตามผลการดำเนินการ หรือปรับแผนดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์
......................................................................
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th