นายกรัฐมนตรีนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในทุกมิติ

ข่าวทั่วไป Wednesday December 4, 2019 14:24 —สำนักโฆษก

นายกรัฐมนตรีนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวทางในการพัฒนาประเทศ เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในทุกมิติ

วันนี้ (4 ธันวาคม 2562) เวลา 09.00 น. ณ หอประชุมพิบูลสงคราม วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศถนนวิภาวดีรังสิต เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานในพิธีเปิดการศึกษาและบรรยายในหัวข้อ “บทบาทภาครัฐ เอกชน และการเมืองในการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ” ของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 62 โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร นักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร จำนวน 300 คน ร่วมรับฟัง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการรักษาความมั่นคงของชาติว่า คือการธำรงไว้ซึ่ง 3 สถาบันหลัก คือ “ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” ประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีลักษณะเฉพาะตัว แต่ทุกประเทศก็เผชิญกับความท้าทาย คือ บริบทใหม่ของโลกที่มีความซับซ้อน ไร้พรมแดน และเชื่อมโยงกัน ทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทุกคนจึงต้องตระหนักและรู้เท่าทันถึงภัยคุกคามและปัญหาความมั่นคงรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ความมั่นคงแบบองค์รวม” ซึ่งเป็นโจทย์ร่วมที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการเมือง ต้องร่วมไม้ร่วมมือกันแก้ปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ต้องร่วมแรงร่วมใจกันวางรากฐานการพัฒนาประเทศในอนาคตให้สามารถแข่งขันในเวทีโลก ด้วยการใช้ทรัพยากรของชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อสร้างความมั่งคง มั่นคั่ง ยั่งยืนในทุกมิติ

นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำว่า การพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย ผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยของประชาชน และการพัฒนาประเทศ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง รวมไปถึงการดำเนินงานด้านการต่างประเทศ “เชิงรุก” อย่างสร้างสรรค์ เพื่อยกระดับความร่วมมือกับนานาชาติโดย “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” ให้มากที่สุด ต้องปรับเปลี่ยนทุกกระบวนทัศน์จากการเผชิญหน้า สู่ความร่วมมือกันทุกภาคส่วน ภายใต้แนวคิดที่ว่าจะต้องแข็งแกร่งไปด้วยกัน (Stronger Together) และที่สำคัญต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สำหรับยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน นั้น จะถูกแปลงเป็นนโยบายเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมปรับตัวไปด้วยกัน การพัฒนาตามแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้านเป็นแผนในการขับเคลื่อนประเทศเพื่อวันข้างหน้า เพื่อลูกหลานของเรา โดยให้ความสำคัญกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่และดิจิทัล มาเสริมสร้างประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดิน ตามนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ภายใต้การทำงานร่วมกันในลักษณะกลไก “ประชารัฐ” ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค เรื่อยลงไปจนถึงระดับหมู่บ้านชุมชน ที่ต้องมีแผนปฏิบัติการของตนในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องกัน ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ เป็นการ “ระเบิดจากข้างใน” สร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ทุกระดับจะเป็น “กุญแจสู่ความสำเร็จ” ประชาชนมี “บทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบ” โดยจะต้องยึดความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติเหนือผลประโยชน์ส่วนตน ปลูกฝังความรักชาติ คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม จิตสาธารณะ จิตอาสา และส่งเสริมความเป็น “พลเมืองดี” ผ่านกลไก “บวร” (บ้าน – วัด – โรงเรียน) ทุกคนต้องมีภูมิคุ้มกันและรู้เท่าทันภัยคุกคามและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบต่างๆ โดยในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้แนะนำให้นักศึกษาอ่านหนังสือ Blue ocean ที่มีเนื้อหาเรื่องแข่งขันสร้างสินค้าที่มีคุณค่าเป็นการเปลี่ยนแนวคิดแบบเดิมไปสู่การเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิตอลอีกด้วย

................................

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ