รองนายกรัฐมนตรี ส่งเสริมการเรียนรู้เพศวิถีศึกษา เพิ่มทักษะชีวิต แก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ข่าวทั่วไป Monday December 16, 2019 15:12 —สำนักโฆษก

รองนายกรัฐมนตรี ส่งเสริมการเรียนรู้เพศวิถีศึกษา เพิ่มทักษะชีวิต แก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

วันนี้ (16 ธันวาคม 2562) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ครั้งที่ 2/2562 พร้อมด้วย นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย

โดยที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ระดับชาติ พ.ศ. 2560 - 2569 ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงาน ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) พัฒนาระบบการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตที่มีคุณภาพ และมีระบบการดูแลช่วยเหลือที่เหมาะสม (2) ส่งเสริมบทบาทครอบครัว ชุมชน และสถานประกอบกิจการในการเลี้ยงดูสร้างสัมพันธภาพและการสื่อสารด้านสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น (3) พัฒนาระบบบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธ์ที่มีคุณภาพและเป็นมิตร (4) พัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือ การคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ และการจัดสวัสดิการสังคมในกลุ่มวัยรุ่น และ (5) ส่งเสริมการบูรณาการการจัดการฐานข้อมูล งานวิจัย และการจัดการความรู้ โดยมีการจัดกิจกรรมและโครงการ เช่น บูรณาการจัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิตในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน สื่อ Social Media เพื่อสื่อสารเรื่องเพศเชิงบวก การจัดครอบครัวอุปถัมภ์ สถานรองรับเด็ก

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้รับทราบถึงความก้าวหน้าสถานการณ์การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ปี 2561 และการเฝ้าระวังการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ปี 2562 การดำเนินงานของสายด่วนให้คำปรึกษา 1663 ในการให้คำปรึกษาด้านตั้งครรภ์ไม่พร้อม และเสียงเด็กและเยาวชนไทย ต่อสิทธิสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ ภายใต้พระราชบัญญัติการป้องการและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 โดยที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบข้อเสนอการให้โอกาสวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ ได้เรียนต่อในโรงเรียนเดิมตามความสมัครใจ และต้องไม่ถูกกดดันให้ต้องย้ายโรงเรียนหรือเรียนต่อการศึกษานอกโรงเรียน โดยโรงเรียนจัดให้มีระบบช่วยเหลือที่เหมาะสม และเห็นชอบข้อเสนอให้มีการปรับปรุงหลักสูตร ให้มีเนื้อหารอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิ รวมไปถึงพัฒนาทักษะของบุคลากรในสถานศึกษา โดยเน้นเรื่องทักษะชีวิตมากกว่าเรื่องเพศสัมพันธ์

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบ เสนอแก้ไขเพิ่มเติม คำสั่งคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น หลายประเด็น อาทิ คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบ และแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น คณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร และคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาอิสระด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ในตอนท้าย ประธานได้มอบหมายให้ทุกกระทรวงเร่งรัด กำกับ ติดตามหน่วยงานในสังกัดให้ดำเนินการตามกฎกระทรวงที่ประกาศไว้ โดยเฉพาะการช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาที่ตั้งครรภ์ ให้ได้รับการศึกษาต่อเนื่องด้วยรูปแบบที่เหมาะสมในสถานศึกษาเดิม โดยไม่ถูกกดดันให้ลาออกหรือให้เรียนต่อสถานศึกษานอกระบบ การส่งเสริมการจัดบริการสุขภาพที่เป็นมิตรเชิงรุก ส่งเสริมการให้คำปรึกษาหลังคลอดหรือหลังแท้ง เพื่อให้เข้าถึงการบริการคุมกำเนิดอย่างทั่วถึง และพัฒนาระบบช่วยเหลือ ส่งต่อให้วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์สามารถเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยในกรณีจำเป็น โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัด ภายใต้การกำกับ ดูแลของคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับจังหวัด ให้ดำเนินการตามกฎกระทรวงที่ประกาศมีผลบังคับใช้แล้วอย่างเคร่งครัดด้วย

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ